Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 ตุลาคม 2551

พลังงาน

ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงอย่างรวดเร็ว : ผลกระทบต่อธุรกิจ...ไทยเตรียมรับมือ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2337)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2551 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนที่สูงมาก นับตั้งแต่ต้นปีราคาน้ำมันดิบได้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำลายสถิติเป็นรายวัน โดยในวันที่ 11 กรกฎาคม ราคาน้ำมันดิบ WTI ในสหรัฐอเมริกาได้ปรับขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่ 147.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว นักวิเคราะห์ในหลากหลายสถาบันต่างคาดการณ์กันว่าราคาน้ำมันดิบจะทะยานขึ้นสูงถึงระดับ 150 – 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี 2552 - 2553 แต่ทว่านับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเพียงช่วงเวลาแค่ 3 เดือนราคาน้ำมันดิบลดต่ำลงมาอยู่ที่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมนี้ ราคาน้ำมันโลกได้ดิ่งลงอย่างหนักหน่วง โดยในวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงมาอยู่ที่ 63.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนกรกฎาคมถึง 84.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล การดิ่งลงที่รวดเร็วของราคาน้ำมันโลกนี้ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่หลายฝ่ายเป็นอย่างมากถึงเหตุผลที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงดังกล่าว

โดยสรุป ราคาน้ำมันดิบนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ได้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากการเก็งกำไรที่ลดลงด้วยผลของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในเดือนตุลาคม ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงต้นปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว คือ สถานการณ์วิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา ที่ลุกลามสู่ยุโรป ทำให้บรรดาสถาบันการเงิน และกองทุนเก็งกำไรที่ถือครองสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าต่างเทขายสัญญาออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อประคับประคองสถานะทางการเงินของบริษัท ขณะเดียวกันวิกฤตการเงินดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลไปถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบในตลาดโลกจะลดต่ำลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในช่วง 6 – 9 เดือนนับจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอาจจะลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หากปัญหาวิกฤตทางการเงินส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ปรากฏผลกระทบออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ยังไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ รวมถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับหลายฝ่ายได้มากพอ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เช่น ยูโร ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในระยะหลังจาก 6 – 9 เดือนนับจากนี้ อาจจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 70 – 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลก็เป็นได้ หากสามารถผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ และการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดต่ำลงมากจะส่งผลให้เกิดการบริโภคน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตที่จะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากการหยุดขุดเจาะน้ำมันในบางแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตสูง รวมถึงหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงในตะวันออกกลาง หรือภัยธรรมชาติที่รุนแรงในแหล่งขุดเจาะน้ำมันอย่างต่อเนื่อง จะเป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงได้ส่งผลกระทบในหลากหลายแง่มุมต่อธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อน้ำมัน เช่น โรงกลั่นน้ำมันที่ในระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนสต๊อกน้ำมันที่สั่งซื้อจากช่วงก่อนหน้านี้ในราคาที่สูงซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนธุรกิจมากกว่ากำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่น้ำมันมีราคาสูง แต่ในระยะต่อไปธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันน่าจะได้รับผลดีจากทั้งค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับสูง และต้นทุนสต๊อกน้ำมันที่จะลดต่ำลงตามราคาน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมี และภาคขนส่งจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง

ต่ำลง ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันที่จะได้รับค่าการตลาดที่สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ค่าการตลาดอยู่ในระดับต่ำมาก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมัน ด้วยการรักษาวินัยการใช้น้ำมันอย่างประหยัด การเสริมสร้างสถานะของกองทุนน้ำมันให้แข็งแกร่งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อาจผันผวนในอนาคต การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนทั้งแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลอย่างเป็นระบบของภาครัฐ รวมถึงการวิจัย และพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน