Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 ธันวาคม 2551

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2552 : ปัจจัยลบรุนแรง...โจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2123)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2552 ภายใต้ข้อสมมติ สถานการณ์ 2 กรณี คือ กรณีพื้นฐาน (Base Case) แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่สามารถผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ภาคเอกชนและผู้บริโภค ผู้ประกอบการอาจจะหันกลับมาลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2552 หดตัวลงร้อยละ14.8 จากปี 2551 (ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ยังมีโครงการที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จรอขายอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจึงหันมาเน้นการระบายสินค้า เพื่อลดภาระต้นทุน) สำหรับกรณีเลวร้าย (Worst Case) เป็นสถานการณ์ที่ปัจจัยลบทางการเมืองส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตของประชาชน ตลาดที่อยู่อาศัยถูกกระทบจากการที่ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป นอกจากนี้วิกฤตการเงินที่อาจจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งในปีหน้า ที่อาจจะสร้างอุปสรรคการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2552 หดตัวลงร้อยละ19.9 จากปี 2551

สำหรับแนวโน้มการตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 น่าจะเป็นปีที่มีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ด้านราคา อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพื่อเร่งระบายสินค้า ลดภาระต้นทุนและเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ในภาวะที่ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกำลังซื้อผู้บริโภคบางกลุ่มลดลง โดยกลยุทธ์ด้านราคาที่ยังคงมีการใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น การลดราคาบ้าน การใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย เช่น ตกแต่งฟรี หรือการสมนาคุณเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน นอกจากนี้ยังมีการทำตลาดระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการเงินในการนำเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย

ในขณะที่แนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 2552 คาดว่า กำลังซื้อต่อที่อยู่อาศัยอาจยังคงไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วนัก โดยความต้องการที่อยู่อาศัยน่าจะมีแรงซื้อมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยพื้นฐานเพื่อการที่อยู่อาศัยจริง ที่เป็นตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีความจำเป็นในการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ สำหรับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะของตลาด โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูง และมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้ามากขึ้น รวมถึงสามารถที่จะเลือกซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่ถูกลง (รวมถึงการได้รับส่วนลดจากมาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง) และมีเวลาในการเลือกที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องเร่งตัดสินใจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง