Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 เมษายน 2552

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 52...อุปทานอาจต่ำสุดในรอบ 6 ปี (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2157)

คะแนนเฉลี่ย

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างรุนแรง ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องบางแห่งถึงกับต้องปิดกิจการลง และผลกระทบยังได้ลุกลามต่อมายังภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบภาวะชะลอตัว และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงมากขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง ทำให้เมื่อช่วงต้นปี 2552 ที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ด้วย ที่น่าจะเป็นแรงหนุนให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถขยายตัวต่อไปได้

อย่างไรก็ตามในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมมีการขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนบวก 3 และบวก 6 ที่พัทยา การปิดกั้นการจราจรหลายจุดในกรุงเทพมหานคร และหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศและความเชื่อมั่นในสายตาชาวต่างชาติ และยังเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นี้ ลงมาเป็นหดตัวร้อยละ 3.5-6.0 ต่ำลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2551 และอาจกดดันให้การว่างงานเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 1.7-2.2 ล้านคน ซึ่งรุนแรงกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ภาวะดังกล่าวจะบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้คาดว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจจะหดตัวลงร้อยละ 1.1-3.2 ในปีนี้

ทั้งนี้ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงนานัปการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2552 ภายใต้ข้อสมมติ สถานการณ์ 2 กรณี คือ

กรณีพื้นฐาน (Base Case) แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่สามารถผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความขัดแย้งด้านการเมือง และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ภาคเอกชนและผู้บริโภค ผู้ประกอบการอาจจะหันกลับมาลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2552 มีจำนวนประมาณ 67,500 หน่วย หดตัวลงร้อยละ 10.5 จากปี 2551

สำหรับกรณีเลวร้าย (Worst Case) เป็นสถานการณ์ที่ปัจจัยทางการเมืองที่อาจจะกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตของประชาชน ตลาดที่อยู่อาศัยถูกกระทบจากการที่ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง และยังคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกยาวที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวในระดับศักยภาพอีกครั้ง อีกทั้งสถาบันการเงินได้เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อทั้งผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องชะลอการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ รวมถึงธุรกิจรับปลูกสร้างบ้านจะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ซึ่งคาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2552 มีจำนวนประมาณ 64,500 หน่วย หดตัวลงร้อยละ 14.5 จากปี 2551 โดยแม้ว่าปริมาณอุปทานดังกล่าวอาจต่ำสุดในรอบ 6 ปี แต่ก็ยังไม่น่าจะเลวร้ายเหมือนช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงปี 2542-2545 มีจำนวนประมาณ 27,500-37,500 หน่วย เท่านั้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง