Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มกราคม 2553

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ปี 2553 : คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.5 ถึง 6.2 ... แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2198)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2553 คาดว่าจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการปรับตัวในทิศทางที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจัยหนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2553 นี้ น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว และเป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 2.5 ถึง 3.5 จากที่หดตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2552 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการดำเนินนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลน่าจะมีผลต่อเนื่องไปสู่การกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นน่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งความมั่นใจต่อรายได้และการมีงานทำให้ปรับตัวดีขึ้นและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเริ่มตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่จะเป็นแรงหนุนให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยมีการเติบโตแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัจจัยเฉพาะที่คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ อาทิเช่น มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2553 โดยผู้บริโภคกลุ่มที่มีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัยน่าจะเร่งการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวช่วยให้ผู้ซื้อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยลงได้มาก นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 น่าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดที่อยู่อาศัยให้ขยายตัวได้

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2553 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายในหลายด้าน อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศและเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขึ้นขาดความต่อเนื่องได้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้การขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ไม่ฟื้นตัวตามที่คาด นอกจากนี้แนวโน้มต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้นของผู้ประกอบอาจจะส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอาจจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืม ทั้งของผู้ประกอบการธุรกิจและผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (ไม่รวมบ้านเอื้ออาทร) ในปี 2553 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 - 6.2 (มีจำนวนประมาณ 73,700 – 74,850 หน่วย) จากจำนวน 70,500 หน่วย ในปี 2552 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยทุกประเภท โดยคาดว่าโครงการแนวราบน่าจะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น จากที่ชะลอลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากคู่แข่งอย่างที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมในปีนี้ แม้คาดว่าจะชะลอตัว โดยอาจจะมีห้องชุดที่สร้างเสร็จลดลง หรือใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ก็ยังเป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะมีจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับโครงการแนวราบและบ้านปลูกสร้างเอง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง