Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 มีนาคม 2553

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงฯ .... ทำเลที่ตั้ง และราคา ปัจจัยหลักในการตัดสินใจ (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2206)

คะแนนเฉลี่ย

เพื่อเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจ พฤติกรรมการในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน โดยผลการสำรวจมีความครอบคลุมถึงความต้องการที่อยู่อาศัยจำแนกตามประเภท และปัจจัยในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มอายุ รวมถึงสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยจัดทำแบบสอบถาม ภายใต้หัวข้อ ;พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย” ในระหว่างวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2553 มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่สามารถนำมาประมวลผลได้รวมทั้งสิ้น 600 คน โดยทำการสำรวจในเขตกรุงเทพมหานคร และมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรในวัยทำงานและเป็นกลุ่มที่กำลังมองหาหรือกำลังตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

จากการสำรวจในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นความต้องการต่อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ที่ยังคงสนใจที่จะซื้อบ้านใหม่และต้องการซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้วในสัดส่วนที่มากกว่า ขณะที่หากจำแนกตามประเภทที่อยู่อาศัยความต้องการของผู้บริโภคยังให้น้ำหนักไปที่บ้านเดี่ยวมากที่สุด รองลงมา คือ คอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์

สำหรับประเด็นข้อสังเกตที่ได้จากการสำรวจ คือ ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยนั้น เลือกที่จะซื้อโครงการที่สร้างเสร็จแล้วคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70.9 และในขณะที่หนึ่งในปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย คือ ฐานะความมั่นคงของเจ้าของโครงการเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความกังวล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจหันมาให้ความสำคัญต่อการนำระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ มาใช้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัย และอาจนำมาเป็นจุดขายของโครงการได้ สำหรับโครงการที่กำลังก่อสร้าง หรือเริ่มเปิดตัว

สำหรับแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยหลังจากที่รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีแผนการปรับราคาขายขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ท่ามกลางภาวะตลาดที่มีการแข่งขันที่สูง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง ทำให้การปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัยในเวลานี้ อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายในบางโครงการได้ โดยผู้ประกอบการอาจต้องมีการวางแผนการตลาดที่ดี เนื่องจากในปัจจุบันมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้า และใช้เวลาในการตัดสินใจมากขึ้น อีกทั้งการแข่งขันในบางทำเลยังเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่เอง ซึ่งผู้ประกอบการที่ยังไม่ปรับขึ้นราคา ก็จะเป็นจุดแข็งในการส่วนแบ่งการตลาดได้ เนื่องจากการยกเลิกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ยังส่งผลต่อภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมาเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ผู้ประกอบการจะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ภายใต้การขับเคี่ยวที่เข้มข้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะยังคงไม่ปรับราคาที่อยู่อาศัยมากนัก โดยผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ได้หลายแนวทาง เช่น การลดต้นทุน ผู้ผลิตอาจพยายามรักษาอัตรากำไรด้วยการปรับลดรายการข้อเสนอเพิ่มเติมบางส่วนออกไป หรือการลดขนาดห้องชุด หรือขนาดของตัวบ้านลง แต่ยังคงรักษาคุณภาพมาตรฐานและระดับราคาไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป เนื่องจากการแข่งขันยังมีอยู่สูง และการศึกษาวิจัยความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในทำเลที่มีการแข่งขันสูง ที่มีการเปิดหลายโครงการพร้อมๆกัน ผู้ประกอบการอาจต้องทำการศึกษาความต้องการของตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างจุดแข็งและความได้เปรียบในตัวสินค้าและราคา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง