Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 สิงหาคม 2553

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ : แม้ว่าจะยังไม่เป็นฟองสบู่ ... แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตาม (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2225)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงที่ผ่านมา ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในอดีต ภาวะดังกล่าวนับเป็นชนวนสำคัญที่นำเศรษฐกิจก้าวถลำสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 และล่าสุดประเด็นภาวะฟองสบู่ในที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมกลับมาเป็นที่กังวลของหลายฝ่าย เนื่องจากภาวะอุปทานคงค้างที่อยู่อาศัยเหลือขายในตลาด ณ กลางปี 2553 ยังมีจำนวนที่สูง จากผลสำรวจของ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่า ยอดที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสม ณ กลางปี 2553 มีประมาณ 98,748 หน่วย ซึ่งอยู่ระดับใกล้เคียง ณ สิ้นปี 2552 โดยที่อยู่อาศัยเหลือขายประเภทคอนโดมิเนียม มีอยู่ประมาณ 26,000 หน่วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังคงเดินหน้าเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ประมาณ 80,000 – 89,000 หน่วย ในปี 2553 โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่ผู้ประกอบการยังคงเปิดตัวกันอย่างคึกคัก รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังไม่ถึงระดับอันตรายเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 ก็ตาม แต่มีปัจจัยบางประเด็นที่ยังคงต้องติดตาม โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และภาวะอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคควรคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริง โดยผู้ซื้ออาจต้องมองปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย อาทิ ความน่าเชื่อถือของโครงการ คุณภาพและรูปแบบของที่อยู่อาศัย ความชัดเจนของระบบโครงการรถไฟฟ้า รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระ เป็นต้น เนื่องจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูง และมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้ามากขึ้น และมีเวลาในการเลือกที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความต้องการ และความสามารถในการผ่อนชำระที่เหมาะสมของตนเอง

ในขณะที่ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นการลงทุน อาจมองถึงความคุ้มทุน และผลตอบแทนจากการลงทุนในระยาวเป็นหลัก เนื่องจากการลงทุนระยะสั้นๆ อาจเผชิญกับความผันผวนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภายใต้ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนซึ่งต่างจากอดีต อาทิ ความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจ การเงิน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง

แม้จะมีความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และผลกระทบที่อาจจะตามมาแต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่าการที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อมีการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและมีการศึกษาวิจัยตลาดที่ดีขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการมีการลงทุนอย่างรอบคอบและระมัดระวังไม่ลงทุนเกินตัว ตลอดจนยอดอุปทานคงค้างในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 ทำให้คาดว่า ปัญหาในธุรกิจคงจะไม่รุนแรงจนนำไปสู่ภาวะถดถอยดังเช่นวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในปี 2540

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง