Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 พฤศจิกายน 2553

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

มาตรการชะลอความร้อนแรงอสังหาริมทรัพย์ :ผลต่อผู้ประกอบการ ... สถาบันการเงินน่าจะอยู่ในวงจำกัด (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2985)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการเร่งเปิดโครงการใหม่ๆ ในที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่คาดว่า ณ สิ้นปี 2553 อาจมีจำนวนสูงถึง 70,000 หน่วย ขณะเดียวกันอุปทานคงค้างเหลือขายในตลาดเริ่มสะสมเป็นจำนวนที่สูงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลถึงปัญหาความไม่สมดุลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งการแข่งขันธนาคารพาณิชย์ที่มีความรุนแรง ทำให้เกิดความกังวลถึงพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นในระยะข้างหน้าได้ โดยเฉพาะเมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังคงมีความผันผวนสูงทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ อีกทั้งผู้บริโภคยังต้องเผชิญกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ชะลอตัวลงได้

ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value) สำหรับการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 10 ล้านบาทลงมา โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวสูง หรือ คอนโดมิเนียม กำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันที่ร้อยละ 90 ซึ่งมีผลใช้เฉพาะสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 สำหรับส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ กำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันที่ร้อยละ 95 ซึ่งจะมีผลใช้เฉพาะสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การออกมาตรการดังกล่าวนี้ เพื่อสร้างความสมดุลและเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตอย่างมั่นคง เพราะถ้าหากไม่ออกมาตรการใดๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี แม้ว่ามาตรการดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีส่วนช่วยชะลอความร้อนแรงที่ปรากฏอยู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์บางเซ็กเม้นท์ลงได้บ้าง รวมทั้งอาจจะชะลอการเปิดตัวโครงการของผู้ประกอบการที่อาจนำไปสู่ปัญหาอุปทานล้นตลาดในอนาคตได้ แต่ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการมีการช่วงชิงจังหวะการทำตลาด โดยการเร่งเปิดโครงการใหม่ ขณะที่ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานก็เริ่มมีสัญญาณแสดงให้เห็นในบางทำเล ดังนั้นผู้ประกอบการและสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อควรจะมีมาตรการการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบมากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความต้องการซื้อและสินค้าในตลาดให้มีเสถียรภาพ ขณะที่ด้านผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เองก็ควรที่จะทำการตัดสินใจเลือกโครงการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระและฐานะการเงินของตนเป็นสำคัญ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง