Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มกราคม 2554

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2554: บททดสอบความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการ...ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลาย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2238)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีทิศทางชะลอตัวนับจากครึ่งหลังปี 2553 ที่ผ่านมา โดยยอดขายโครงการเปิดตัวใหม่ในหลายๆ โครงการเริ่มชะลอตัวลง และใช้ระยะเวลาในการปิดโครงการที่นานขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างระดมแคมเปญการตลาดอย่างหนัก เพื่อกระตุ้นตลาดและจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

สำหรับแนวโน้มในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะชะลอตัว แม้ธุรกิจยังอาจได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของรายได้ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกต่ออำนาจซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ในอีกด้านหนึ่งแนวโน้มราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นก็อาจเป็นปัจจัยลบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2554 ยังต้องเผชิญปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดต่อการเติบโตของตลาดหลายด้าน อาทิ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัย การปรับขึ้นของต้นทุนทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ราคาที่ดิน และราคาวัสดุก่อสร้าง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาวัสดุก่อสร้างในปี 2554 จะปรับขึ้นประมาณร้อยละ 4.5-5.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2553 ดังนั้นเมื่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นย่อมจะส่งผลต่อมายังราคาที่อยู่อาศัยในปี 2554 ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาที่อยู่อาศัยในทำเลที่มีศักยภาพสูงอาจปรับตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับราคาที่เปิดตัวในปี 2553 (เปรียบเทียบระหว่างสินค้าที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน) นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายเริ่มสะสมเป็นจำนวนที่สูงขึ้น รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีแผนจะเปิดโครงการใหม่ในระยะข้างหน้าอาจต้องให้ความสำคัญมากขึ้นปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน

สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีประมาณ 90,500-92,750 หน่วย เติบโตร้อยละ 5.5-8.2 จากที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 ในปี 2553 (ไม่รวมโครงการบ้านเอื้ออาทร) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยทุกประเภท โดยคาดว่าโครงการแนวราบน่าจะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น จากที่ชะลอลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จประเภทคอนโดมิเนียมคาดว่าน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงในปีนี้ และจำนวนหน่วยที่สร้างเสร็จนับเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2541 ขณะที่การรวบรวมตัวเลขในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการเปิดโครงการในปี 2554 นี้ จะมีประมาณ 80,000-90,000 หน่วย

แนวโน้มจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 2554

2553

ประมาณการ *

2554

ประมาณการ *

จำนวน (หน่วย)

จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

85,750

90,500-92,750

โครงการจัดสรร

24,250

27,750-28,500

โครงการคอนโดมิเนียม

40,000

40,000-41,250

บ้านปลูกสร้างเอง

21,500

22,750-23,000

อัตราการขยายตัว (%)

จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

9.0

5.5 ถึง 8.2

โครงการจัดสรร

6.8

14.4 ถึง 17.5

โครงการคอนโดมิเนียม

15.3

0.0 ถึง 3.1

บ้านปลูกสร้างเอง

0.9

5.8 ถึง 7.0

ที่มา: REIC, BOT, Kasikorn Research *ประมาณการ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

(รวบรวมจากโครงการจัดสรร, โครงการคอนโดมิเนียม และบ้านปลูกสร้างเอง โดยไม่รวมบ้านเอื้ออาทร)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง