ด้วยราคาพลังงานจากฟอสซิลที่มีแนวโน้มทะยานสูงขึ้นไปตามอุปทานที่นับวันจะยิ่งตึงตัวมากขึ้น ส่งผลต่อความสนใจในการใช้แหล่งพลังงานชนิดอื่นเช่นพลังงานทดแทนเข้ามาเป็นทางเลือก ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานทดแทนอีกประเภทหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจไม่แพ้พลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ ในปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มให้สำคัญและเล็งเห็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจจากการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่า การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยท้าทายทางธุรกิจอยู่หลายประการ ซึ่งปัจจัยสนับสนุนนั้นประกอบด้วย การเติบโตต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม จำนวนของผู้แข่งขันในตลาดที่ยังน้อย มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่จูงใจ แนวโน้มระดับราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ขยับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และถ่านหิน และนโยบายของรัฐที่อาจจะพิจารณาเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนขึ้นจากการชะลอแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สืบเนื่องจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยท้าทายสำหรับผู้ที่มีความสนใจเข้ามาในตลาดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยโครงสร้างของตลาดที่ผู้ซื้อไฟฟ้ามีจำนวนน้อยรายและมีอำนาจกำหนดราคา วิธีการ และปริมาณการรับซื้อ อีกทั้งต้นทุนในการสร้างและการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงและต้องใช้ระยะเวลาพอประมาณเพื่อคืนทุน (ประมาณ 8-10 ปี) ส่งผลให้ความมั่นคงทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ การเข้ามาร่วมทุนจากต่างประเทศจะเป็นแรงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่สามารถแสวงหาเทคโนโลยีจากผู้ร่วมทุนต่างชาติมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือผู้ประกอบการรายอื่นๆได้ ส่งผลให้อัตราการแข่งขันอยู่ในระดับที่สูงขึ้น
ปัจจุบัน มีภาคธุรกิจได้มีการทำสัญญาการขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีปริมาณจำหน่ายเข้าสู่ระบบแล้ว ณ ปัจจุบันที่ 55 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับปริมาณไฟฟ้าที่กำลังจะเสนอขายเข้าระบบในระยะอันใกล้นี้ คาดว่าภายในปี 2555 จะมีปริมาณไฟฟ้าเข้าระบบทั้งสิ้นประมาณ 755-1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 15 ปี ซึ่งอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ภายในปี 2565 ไปมากเลยทีเดียว นอกจากนี้หากหน่วยงานการไฟฟ้าสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นี้ได้ตามปริมาณเสนอซื้อทั้งหมด ก็จะสามารถทดแทนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟาเดิม (PDP 2010) ไปได้ถึง 2 โรง
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีระดับสูงกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบทางเลือกพลังงานไฟฟ้าในกรณีที่ประเทศไทยไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ทางเลือกหลักน่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถ่านหิน แต่เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นดังรูปขณะที่เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มีโอกาสที่ต้นทุนจะต่ำลงอีกจากความก้าวหน้าทางวิทยาการทั้งยังเป็นพลังงานสะอาดจึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีความคิดหรือกำลังจะเข้ามาในตลาดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตนให้สูงขึ้น โดยต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการผลิต มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งต้องมีแหล่งสนับสนุนทางการเงินที่มั่นคง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งกว่าที่จะคุ้มทุน และเหนือสิ่งอื่นใด เนื่องจากราคาเป็นสิ่งที่ผู้ขายกำหนดเองไม่ได้ ขณะที่ผู้ซื้อมีแนวโน้มที่จะปรับราคาขายให้ต่ำลงอีกในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีการบริหารจัดการจากฝั่งต้นทุนที่ดีประกอบกับการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในระดับสากล ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้กับธุรกิจของตนได้เพื่อที่จะได้มาซึ่งผลกำไรที่คาดหวังไว้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น