Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤศจิกายน 2554

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

เลื่อนมาตรการ LTV เป็นวันที่ 1 มกราคม 2556 ... ลดปัจจัยกดดันการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2555 (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2272)

คะแนนเฉลี่ย

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เลื่อนการใช้มาตรการ LTV ออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2556 นั้น เนื่องมาจากวิกฤติน้ำท่วมที่มีความรุนแรง ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างหนัก โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรประมาณ 2,000 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องถูกน้ำท่วม ซึ่งบางโครงการน้ำท่วมสูงมากกว่า 1 เมตร ทำให้กิจกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง ขณะที่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมีอันต้องชะลอตัวลงเช่นกัน ทำให้กิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 คงจะชะลอตัวลง และคาดว่าจะยาวไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2555 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ประมาณ 134,500-140,850 หน่วย หดตัวลงร้อยละ 21.0-24.5 เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่จำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสูงถึง 178,128 หน่วย (ตามรายงานของ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์)

ขณะที่แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2555 นี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจหลายประการ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2555 ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย การใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินฉบับปี 2555-2558 แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน และการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น คงจะต้องทำงานหนักกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาเลือกซื้อโครงการของตน แม้ว่าโครงการบางแห่งจะมีจุดเด่นในเรื่องของการมีรถไฟฟ้าผ่านก็ตาม แต่จากวิกฤติน้ำท่วมหนักครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการต่างคงต้องตระหนักถึงปัจจัยนี้มากขึ้น ในการที่จะพัฒนาโครงการใหม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อยที่สุด

ดังนั้น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเลื่อนการใช้มาตรการ LTV ออกไป ประกอบกับมาตรการที่อยู่อาศัยหลังแรกของรัฐบาลนั้น น่าที่จะช่วยกระตุ้นตลาดได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้กระตุ้นรุนแรง เพราะปกติสถาบันการเงินได้กำหนดสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันสำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบต่ำกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (เป็นอัตราพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมแคมเปญที่ร่วมทำกับผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์) อยู่แล้ว แต่การเลื่อนบังคับใช้มาตรการ LTV ออกไป น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง และระดับล่าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2555 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 138,850-148,000 หน่วย ขยายตัวร้อยละ 0.9 - 7.5 จากที่หดตัวในปี 2554

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง