Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 มิถุนายน 2555

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

อสังหาริมทรัพย์ครึ่งหลังปี 2555 : รอลุ้นหน้าฝน...หากน้ำไม่ท่วมคาดกิจกรรมการซื้อขายน่าจะฟื้นตัว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3304)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นี้ ยังมีปัจจัยที่ท้าทายผู้ประกอบการทั้งในด้านการลงทุนโครงการใหม่ๆ และการทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยแม้ว่าตลาดจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการที่อยู่อาศัยหลังแรก โครงการ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย การแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความรุนแรงแล้วก็ตาม

แต่เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นฟูจากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในปี 2554 ต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยใหม่อย่างเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ และกลายเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการที่จะเลือกทำเลในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ไม่ถูกน้ำท่วม หรือการบริหารจัดการโครงการให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้น้อยที่สุดในปีนี้

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2555 จะมีประมาณ 148,700-154,000 หน่วย หดตัวร้อยละ 1.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากที่ในปี 2554 หดตัวลงไปสูงถึงร้อยละ 12.8 โดยกำลังซื้อยังคงมาจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมและมีความจำเป็นในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ และภาระรายจ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในที่สุด

สำหรับการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นี้ น่าจะกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อย่างไรก็ดี การเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ยังคงมีปัจจัยในเรื่องของเศรษฐกิจและน้ำท่วม ที่จะมีผลต่อการเปิดโครงการใหม่ได้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2555 จะอยู่ที่ประมาณ 84,500-87,500 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่มีการเปิดตัวที่อยู่อาศัย 85,800 หน่วย โดยปีนี้ผู้ประกอบการกลับมาให้น้ำหนักการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ทดแทนการชะลอตัวในตลาดของบ้านแนวราบ ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดบ้านแนวราบยังคงต้องติดตามดูสถานการณ์น้ำในฤดูฝนที่จะถึงนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง