ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ตอกย้ำถึงความอ่อนไหวต่อประเด็นความมั่นคงด้านไฟฟ้าของไทย ซึ่งต่อเนื่องจากกรณีกำลังไฟฟ้าสำรองที่ปรับลดลงจากผลของการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่าเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ความเสี่ยงจากปัญหาไฟฟ้าดับในระยะข้างหน้า ยังคงไม่หมดไป จากแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เติบโตรวดเร็วกว่าค่าเฉลี่ยความต้องการไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามกระแสการเติบโตของความเป็นเมือง (Urbanization) และการขยายฐานธุรกิจออกไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ในขณะที่ในบางภูมิภาคนั้น กำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความต้องการ และจำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากนอกพื้นที่
ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องพิจารณาวางแผนการรับมือ โดยภาครัฐ ควรเร่งกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ระบบทั้งในส่วนที่ผลิตเอง และส่วนที่รับซื้อจากเอกชน รวมทั้งที่นำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ ให้เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจและยอมรับ เกี่ยวกับปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นข้อกังวลสำคัญของภาคประชาชน
ในขณะเดียวกัน ก็ควรมีการส่งเสริมภาคการผลิต รวมทั้งภาคครัวเรือน ให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สามารถทำได้ทันที ในขณะที่การสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งใหม่ ต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น