Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 กันยายน 2557

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ตลาดที่อยู่อาศัยโค้งสุดท้ายปี 2557...ความกังวลต่อการเมืองคลี่คลายลง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2536)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงที่เหลือของปี 2557 นี้ ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลาย ประกอบกับการมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งน่าจะช่วยให้การดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยลบนานัปการตั้งแต่ต้นปี 2557 อย่างไรก็ดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย อาทิ เสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นและปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำแบบสำรวจ ภายใต้หัวข้อ ศึกษาพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย โดยทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นตลาดที่มีกิจกรรมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนที่สูง และได้ทำการสำรวจในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ สงขลา ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่และชลบุรี เนื่องจากในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเหล่านี้ มีการเติบโตค่อนข้างโดดเด่น สำหรับช่วงเวลาในการจัดทำผลสำรวจ คือ ในช่วงก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามาบริหารประเทศและภายหลังที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ทั้งนี้ จากผลสำรวจความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย สามารถสรุปได้โดยสังเขป
- ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ทิศทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางรายได้มีน้ำหนักลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจที่จัดทำก่อนที่ คสช.จะเข้ามาบริหารประเทศ
- นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีความชัดเจนมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เห็นได้ว่า ผลสำรวจความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่ คสช. จะเข้ามาบริหารประเทศ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 62.8 ยังไม่ตัดสินใจช่วงเวลาที่ชัดเจนในการซื้อที่อยู่อาศัย แต่ภายหลังที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ พบว่า ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจช่วงเวลาที่ชัดเจนในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลงเหลือร้อยละ 55.6 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการระบุเวลาที่จะซื้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ และที่คิดจะซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 1-3 ปีข้างหน้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับเข้าสู่ระดับเสถียรภาพ และองค์ประกอบต่างๆ เอื้อต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย การฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็น่าจะทยอยฟื้นขึ้นตามลำดับ
- สำหรับวัตถุประสงค์ของผู้ที่คิดจะที่จะซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งนอกเหนือจากการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองเป็นหลักแล้ว (ร้อยละ 84.3) ผู้ตอบแบบสอบถามมีการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน (ร้อยละ 9.3) ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่จะซื้อเพื่อทำธุรกิจ เพื่ออาศัยอยู่เป็นครั้งคราว และเพื่อเป็นบ้านพักตากอากาศ รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.4
- การชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคบางกลุ่ม ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจในกลุ่มผู้ที่ต้องการและมีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัยให้ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย จากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 57.3 มีความเห็นว่ากลยุทธ์การตลาดมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นว่ากลยุทธ์การตลาดไม่มีผลต่อการจูงใจในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนร้อยละ 42.7 ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้ให้ความสำคัญไปในเรื่องอื่น อาทิ คุณภาพของโครงการ ชื่อเสียงของผู้ประกอบการ และวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง