Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 กุมภาพันธ์ 2548

พลังงาน

การปรับราคาน้ำมันดีเซล : ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอัตราเงินเฟ้อ

คะแนนเฉลี่ย

สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลประกาศปรับเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขึ้น 60 สตางค์ต่อลิตร เป็น 15.19 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ภายหลังจากที่ตรึงราคาไว้ที่ 14.59 บาทมาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 ส่งผลให้น้ำมันดีเซลมีระดับราคาสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงทิศทางราคาน้ำมันภายในประเทศ ผลกระทบของการปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศต่อภาคธุรกิจต่างๆ และผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนี้
  • การประกาศขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีเป็นผลตามมาจากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง (ล่าสุดราคาน้ำมันในตลาดนิวยอร์คเมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์สูงขึ้นมาอยู่ที่ 48.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 44-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) และมีแนวโน้มที่ราคาเฉลี่ยในช่วงปี 2548 อาจจะยังทรงตัวในระดับสูงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • การคงมาตรการตรึงราคาไว้จะเพิ่มภาระให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีสถานะขาดทุนจากการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศสูงถึง 68,000 ล้านบาท และถึงแม้ว่าจะมีการทะยอยปรับเพดานราคาขึ้นในระยะต่อไป แต่ภาระหนี้ที่กองทุนยังคงต้องอุดหนุนราคาน้ำมันจะยังคงเพิ่มขึ้นไปจนกว่าที่จะมีการปล่อยลอยตัวตามราคาจริง ซึ่งในเวลานั้นกองทุนน้ำมันอาจมีภาระหนี้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การตรึงราคาน้ำมันยังทำให้ประชาชนมีความตระหนักถึงการสร้างวินัยที่ดีในการประหยัดพลังงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้มาตรการลดการใช้พลังงานไม่ได้ผลเต็มที่ ขณะเดียวกันการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะการขาดดุลการค้าและสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด
  • สำหรับผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจ ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้การวิเคราะห์ต้นทุนน้ำมันในภาคธุรกิจต่างๆ พบว่าผลโดยตรงจากระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นที่จะมีต่อระดับราคาสินค้าน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ในกรณีแรก การที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เป็น 15.19 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้ธุรกิจต่างๆมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.3 ในกรณีที่สอง ถ้าหากว่าในอนาคตรัฐบาลปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวตามราคาตลาดโลก ราคาน้ำมันดีเซลก็อาจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 (จาก 14.59 บาทต่อลิตร) ภาคธุรกิจโดยภาพรวมจะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2 โดยธุรกิจที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ภาคการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางบก ภาคการเกษตรโดยเฉพาะสาขาประมง และการก่อสร้าง
  • สำหรับผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ การปรับขึ้นราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลจะส่งผ่านไปสู่อัตราเงินเฟ้อผ่านดัชนีราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าโดยเฉลี่ยทั้งปีอาจจะปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 12.5 จากที่ปี 2547 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ทิศทางดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้ขอบเขตการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2548 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 3.0 โดยคาดว่าจะเป็นผลมาจากราคาสินค้าพลังงานประมาณร้อยละ 1.1 ขณะที่คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 5.2 อนึ่ง ระดับราคาสินค้าในประเทศยังคงขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นๆนอกเหนือจากราคาน้ำมันด้วย แรงกดดันด้านอื่นที่คาดว่าจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อได้แก่ ระดับราคาสินค้าเกษตร ซึ่งภาวะภัยแล้งอาจสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรส่งผลให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น
  • นอกจากนี้ แม้ว่าผลกระทบในด้านต้นทุนการผลิตสินค้าอาจไม่ถึงขั้นรุนแรงนัก แต่สิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้คือการปรับตัวของผู้บริโภคต่อการรับรู้สถานการณ์ราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมักจะมีผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะการลงทุน เห็นได้จากการตอบสนองของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ร่วงลงทันทีที่รับรู้ข่าวการปรับราคาน้ำมันดีเซล แม้ว่าภาคธุรกิจและประชาชนโดยทั่วไปจะรับรู้มาก่อนล่วงหน้าว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะทะยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นในช่วงปีนี้ก็ตาม การปรับตัวตัดลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อาจรุนแรงกว่าที่คาดจากผลของความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงนี้ จึงนับเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งต่อชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนที่อาจจะตามมาในระยะต่อไป นอกจากนี้ ปัญหาความตึงเครียดการเมืองระหว่างประเทศ อาทิ ปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ หรือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านและเวเนซูเอลา ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งสร้างความกังวลต่อความต่อเนื่องของภาวะอุปทานน้ำมันนับเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลต่อทิศทางความผันผวนของราคาน้ำมัน


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน