Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤษภาคม 2548

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ภาระรายจ่ายครัวเรือนสูงสุดในรอบ 10 ปี : ผลต่อตลาดที่อยู่อาศัย

คะแนนเฉลี่ย

ท่ามกลางภาวะราคาสินค้าภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคไทยจึงได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการรายงานผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน (SES) ประจำปี 2547 (เป็นตัวเลขเบื้องต้น) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรายได้-รายจ่ายของผู้บริโภค ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และอาจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจที่อยู่อาศัยต้องพิจารณาในการวางกลยุทธกำหนดคุณสมบัติของสินค้าที่จะเสนอขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งข้อสรุปจากการวิเคราะห์มีประเด็นสำคัญดังนี้

ครัวเรือนไทยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายท่ามกลางภาวะการปรับตัวสูงของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2547 ครัวเรือนมีรายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14,617 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เทียบกับ 13,736 บาทต่อเดือนในปี 2545 ขณะที่ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12,115 บาทต่อเดือนในปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เทียบกับ 10,889 บาทต่อเดือนในปี 2545 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้เกือบเท่าตัว ภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 82.9 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 79.3 ในปี 2545 โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.1 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนทั่วประเทศในปี 2547 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 13.9 ในปี 2545 ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายลดการใช้จ่ายสินค้าประเภทอื่นๆลง



ในช่วงปี 2548 แนวโน้มภาระรายจ่ายของผู้บริโภคยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2548 ดัชนีราคาสินค้าส่วนใหญ่อาจปรับตัวสูงขึ้นในขนาดที่ใกล้เคียงกับที่มีการปรับขึ้นภายในช่วง 2 ปี ระหว่างปี 2545-2547 โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศโดยเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามปริมาณการใช้เบนซินและดีเซล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นระหว่างประมาณร้อยละ 19-22 โดยอัตราเพิ่มช่วงต่ำอยู่ภายใต้ข้อสมมติที่ราคาน้ำมันดีเซลไม่ปรับขึ้นไปจนถึงปลายปี และอัตราเพิ่มช่วงสูงอยู่ภายใต้ข้อสมมติที่ราคาน้ำมันดีเซลจะมีการปรับขึ้นอีก 3 บาทในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งอัตราเพิ่มในช่วงปีนี้อาจสูงกว่าอัตราการเพิ่มในช่วง 2 ปีก่อนหน้า ที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นร้อยละ 15.7 เมื่อวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายได้และค่าใช้จ่ายครัวเรือนในช่วงปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2548 สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อาจสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 87 ซึ่งจะเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 ที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายเคยสูงถึงร้อยละ 91.6

ภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นนี้หมายถึงการหดแคบลงของกำลังซื้อส่วนเกินที่ผู้บริโภคสามารถใช้จ่ายเพื่อสินค้าอื่นๆนอกเหนือจากความจำเป็นในการดำรงชีพ รวมทั้งความสามารถในการออมที่ลดลง และถ้าผู้ที่ต้องการซื้อบ้านนำกำลังซื้อส่วนเกินนี้มาใช้ในการผ่อนชำระการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย นั่นหมายความว่าความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนของผู้ซื้อจะลดน้อยลง อีกนัยหนึ่ง ราคาบ้านที่ซื้อได้จะต้องลดลงตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงปีนี้คงจะมีอัตราขยายตัวไม่มากนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงปี 2548 จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพและปริมณฑลในช่วงปี 2548 อาจมีจำนวนประมาณ 63,000 หน่วย ใกล้เคียงกับปี 2547 ที่มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จประมาณ 62,796 หน่วย อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดน่าจะปรับลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการเสนอขายบ้านในระดับราคาเฉลี่ยต่ำลงกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แรงกดดันจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานอาจทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่อยู่อาศัยเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการวางกลยุทธเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าและกลุ่มเป้าหมายลูกค้าให้สอดคล้องกับภาวะตลาดในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะตลาดที่มีแนวโน้มชะลอตัวและต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง