Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มกราคม 2549

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2549 ... อาจชะลอตัวต่อเนื่อง

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงปี 2548 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปรากฏสัญญาณการชะลอตัวลง หลังจากที่ธุรกิจมีการเติบโตสูงมาโดยตลอด ระหว่างปี 2543-2547 การลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15 ต่อปี แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2548 เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นรวดเร็ว ส่งผลต่อภาวะอุปสงค์ในตลาดและต้นทุนการพัฒนาโครงการ ขณะเดียวกัน ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์เช่นกัน

โดยภาพรวมแล้วการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ในปี 2548 มีทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจที่อยู่อาศัย ตลาดรวมของธุรกิจบ้านจัดสรรปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่โดยรวมทั้งระบบมีจำนวนลดลง ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ปรับตัวลดลง ภาวะตลาดที่ชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีทิศทางอ่อนตัวลง โดยผลกำไรรวมของกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 แต่ผลกำไรของกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยหดตัวลงประมาณเกือบร้อยละ 20 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานสำเร็จรูปหลายรายมียอดขายและผลกำไรเติบโตอย่างโดดเด่น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในปี 2548 อาจมีมูลค่าประมาณ 330,000 ล้านบาท เทียบกับที่มีมูลค่า 292,481 ล้านบาทในปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 8.4 ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 15.2 ในปี 2547 ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงท้ายของปี 2547 เป็นแรงกดดันให้สินค้าต่างๆมีการปรับขึ้นราคา ส่งผลกระทบต่อสถานะรายจ่ายของผู้บริโภค ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยที่มีการปรับขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับขึ้นในช่วงจังหวะที่รวดเร็วนับตั้งแต่กลางปี 2548 เป็นต้นมา ผลของปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ได้ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยอ่อนตัวลง

สำหรับแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอาจยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัว ที่สำคัญเนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจที่อยู่อาศัย โดยความต้องการที่อยู่อาศัยอาจเผชิญปัจจัยลบจากแรงกดดันด้านภาระรายจ่ายของผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมคาดว่าอาจจะขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ถ้าภาวะเศรษฐกิจปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามที่คาดไว้ โดยธุรกิจหลายประเภทยังมีความต้องการลงทุนขยายกำลังผลิต รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตามประมาณการในกรณีพื้นฐานที่เศรษฐกิจไทยในปี 2549 ขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 5 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรวมอาจจะมีมูลค่าประมาณ 370,000 ล้านบาทในปี 2549 คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 8 ต่ำลงเล็กน้อยจากปี 2548 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในด้านลบอาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอาจมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการกระตุ้นการลงทุนในส่วนของรัฐได้อย่างเต็มที่ หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐมีความล่าช้าออกไป ทำให้ผลกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะมาจากภาครัฐไม่เป็นไปดังที่คาด การลงทุนของภาคธุรกิจต่างๆอาจมีการชะลอโครงการออกไป ส่งผลสะท้อนกลับมาสู่อุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์

หากจำแนกประเภทธุรกิจ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มผลประกอบการค่อนข้างดีกว่าระดับเฉลี่ย ได้แก่ คอนโดมิเนียม ที่พักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติ อาคารสำนักงาน และนิคมอุตสาหกรรม ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มผลประกอบการต่ำกว่าระดับเฉลี่ย ได้แก่ ธุรกิจบ้านจัดสรร ธุรกิจรับสร้างบ้าน และธุรกิจบ้านมือสอง ผู้ประกอบการอาจเผชิญแรงกดดันจากภาวะตลาดที่ชะลอตัว ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนทางธุรกิจอาจยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อัตรากำไรของธุรกิจจึงมีแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้น เป็นไปตามวัฏจักรของธุรกิจที่ปรับตัวอย่างค่อนข้างฉับพลัน จากช่วงที่อุปสงค์ตอบสนองต่อแรงกระตุ้นจากปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนหลายประการ มาสู่ช่วงที่ผู้ประกอบการนอกจากจะต้องเผชิญกับปัจจัยทางธุรกิจในสภาวะปกติที่ไร้แรงกระตุ้นแล้ว ยังต้องเผชิญปัจจัยลบที่สำคัญคือการกำลังซื้อของผู้บริโภคมีทิศทางปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ทิศทางดังกล่าวน่าจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะต่อไป เมื่อการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายของผู้บริโภคมีอัตราที่ลดลงต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ และแรงกดดันจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นลดน้อยลง ทำให้ระดับกำลังซื้อของผู้บริโภคต่ออสังหาริมทรัพย์กลับมามีทิศทางที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ภาวะอุปทานส่วนเกินและการเก็งกำไรมีต่ำ ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีถึงเสถียรภาพและภูมิคุ้มกันต่อการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศโดยภาพรวม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในระยะยาว เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์มีความเกี่ยวข้องกับทิศทางการลงทุนของประเทศ ซึ่งหากพิจารณาถึงนโยบายของภาครัฐในด้านเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์อีกมาก อาทิ แผนการลงทุนของภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเปิดพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การท่องเที่ยว และการบริการในภูมิภาค รวมถึงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค และการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ของประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค แผนการต่างๆเหล่านี้ ถ้ามีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จะมีส่วนในการผลักดันให้มีการกระจายการพัฒนาและความเจริญไปสู่จังหวัดต่างๆที่สำคัญมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง