Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 เมษายน 2549

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ภาวะเศรษฐกิจและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2549 ... ผลกระทบต่อธุรกิจที่อยู่อาศัย

คะแนนเฉลี่ย

ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญปัจจัยลบและปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะมีต่อความต้องการที่อยู่อาศัย จากปัจจัยแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงปี 2549 และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง

โดยสรุป แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2549 อาจไม่ดีไปกว่าปีก่อนหน้า โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 4.0-5.0 ระดับราคาสินค้าที่สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้ออาจยังอยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 4.0-4.5 ในปี 2549 ใกล้เคียงร้อยละ 4.5 ในปี 2548 อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ใกล้ปรับถึงจุดสูงสุดตามหลังทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คาดว่าจะถึงระดับสูงสุดที่ 4.75%-5.00% ภายในครึ่งแรกปี 2549 แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2549 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนด้านพลังงานอาจยังปรับตัวสูงขึ้นในปี 2549 ซึ่งจะมีผลต่อราคาที่อยู่อาศัยในโครงการใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการอาจเผชิญภาวะต้นทุนการดำเนินโครงการ และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรหดแคบลง ขณะเดียวกัน การประกาศใช้กฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ แทนกฎหมายผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับเดิมที่จะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2549 คงจะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องจัดสรรพื้นที่เว้นว่างให้เป็นไปตามข้อกำหนด รวมถึงที่ดินในบางพื้นที่อาจมีข้อจำกัดต่อโอกาสในการนำมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจที่อยู่อาศัยในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงปี 2549 ที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรอาจยังมีจำนวนลดลง อยู่ที่ประมาณ 34,000 หน่วย ลดลงร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 11.8 ในปี 2548 ที่อยู่อาศัยประเภทปลูกสร้างเองและห้องชุดคอนโดมิเนียมอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยที่อยู่อาศัยประเภทปลูกสร้างเองอาจมีจำนวนประมาณ 26,000 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และสำหรับห้องชุดคอนโดมิเนียมที่มีการจดทะเบียนอาจมีจำนวนประมาณ 11,000 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ส่งผลให้ จำนวนที่อยู่อาศัยใหม่โดยรวมทุกประเภทอาจลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2548

มูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมทั่วประเทศอาจเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าอาจมีมูลค่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆประมาณ 230,000 ล้านบาทในปี 2549 เทียบกับประมาณ 200,000 ล้านบาทในปี 2548 และมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ร้อยละ 8 ในปี 2549 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2548

การชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยอาจส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมทั้งระบบเติบโตชะลอลงไปในทิศทางเดียวกัน โดยคาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัย ณ สิ้นปี 2549 อาจมีมูลค่าประมาณ 1.335 ล้านล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 10 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 เมื่อสิ้นปี 2548

สำหรับในปี 2550 เศรษฐกิจมีโอกาสที่จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง ถ้าปัจจัยที่ส่งผลกดดันอุปสงค์ภายในประเทศ อาทิ ระดับราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ย ผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง โดยคาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.0-4.0 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะทรงตัวหรือปรับลดลงในปี 2550 ซึ่งในกรณีที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวดีขึ้น รายได้ของผู้บริโภคมีการเติบโตที่สูงกว่าด้านรายจ่าย ก็น่าจะส่งผลให้กำลังซื้อต่อที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้นได้บ้างในปี 2550

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2550 ยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ในส่วนของปัจจัยภายนอก สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง กรณีปัญหาการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน อาจเป็นปัจจัยคุกคามเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นกับราคาน้ำมัน ขณะที่การเมืองในประเทศอาจมีความไม่แน่นอนไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่และมีรัฐบาลถาวรเข้ามาบริหารประเทศในช่วงครึ่งหลังปี 2550 ไปแล้ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง