Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 สิงหาคม 2549

พลังงาน

ไบโอดีเซล : พลังงานทางเลือก...ยุคน้ำมันแพง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1896)

คะแนนเฉลี่ย
ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมานาน ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์พลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยมีนโยบายที่จะลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมัน และหันไปใช้พลังงานทดแทนน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาพลังงานทดแทนในระยะยาวจะมีส่วนช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันของประเทศได้ในระดับหนึ่ง จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 กำหนดให้ใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล5%หรือB5ทั่วประเทศในปี 2554 และใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล10%หรือB10ในปี 2555 ซึ่งถ้าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไทยจะต้องผลิตไบโอดีเซลให้ได้ 8.5 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดโอกาสด้านการลงทุนขยายพื้นที่ปลูกพืชน้ำมัน โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและสบู่ดำ ซึ่งเป็นพืชน้ำมันเป้าหมายที่จะมีการขยายการปลูกเพื่อป้อนโรงงานผลิตไบโอดีเซล การก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล รวมไปถึงธรุกิจปั๊มจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล
แม้ว่ารัฐบาลจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซล เพื่อให้มีการใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลบางส่วน แต่การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้นั้นยังมีปัญหาและอุปสรรคในหลายด้าน ดังนี้
1.ปัญหาด้านการผลิต แยกออกได้เป็น
1.1ปัญหาในด้านการจัดหาวัตถุดิบ ทั้งนี้เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาดังนี้
-ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ เกษตรกรไม่สนใจขยายพื้นที่ปลูก นโยบายปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อทดแทนพลังงาน โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน โดยให้เงินสนับสนุนไร่ละ 7,000 บาท จำนวน 15 ไร่ขึ้นไป คืนเงินในระยะ 6 ปี และรัฐจะรับประกันราคาปาล์ม(ทั้งทะลาย) 3.50 บาท/กิโลกรัม แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศประกันราคา และราคาปาล์ม(ทั้งทะลาย)ลดลงเหลือ 1.60-1.80 บาท/กิโลกรัม ชาวสวนปาล์มอยู่ในภาวะที่ขาดทุนเนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 2.00 บาท นโยบายสนับสนุนการปลูกปาล์มเพื่อทดแทนพลังงานจึงไม่เกิดแรงจูงใจ เกษตรกรสนใจหันมาปลูกปาล์มน้ำมันไม่มากนักในขณะนี้ โดยจะสนใจหันไปปลูกยางพารากันมากกว่า ทำให้คาดหมายว่าการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาประกอบกันไปด้วย คือ นโยบายรัฐบาลเร่งขยายพื้นที่พืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะยางพารา และพืชพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตเอธานอลและไบโอดีเซล ดังนั้นทำให้เกษตรกรต้องพิจารณาเลือกว่าจะหันมาปลูกพืชใดที่ให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันไทยมีเนื้อที่จำกัดในการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ส่วนการที่จะเข้าไปลงทุนเพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงในด้านอื่นๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมือง
-พื้นที่ที่เหมาะสมในการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ความไม่มั่นใจในผลผลิตปาล์มน้ำมันว่าจะได้ผลผลิตตามที่คาดการณ์หรือไม่ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าพื้นที่ที่จะลงทุนขยายการปลูกปาล์มน้ำมันนั้นเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำหนดจะขยายพื้นที่ปลูก 500,000 ไร่ แม้ว่ากรมวิชาการเกษตรใช้ระบบแผนที่ทางอากาศ คำนวณหาพื้นที่ที่เหมาะสมและยืนยันว่าพื้นที่ที่จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเหมาะสม แต่ก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกับนักวิชาการและผู้ประกอบการในธุรกิจปาล์มน้ำมัน เนื่องจากการปลูกปาล์มน้ำมันนั้น นอกจากพื้นที่เหมาะสมแล้วที่สำคัญพันธุ์ต้องดี ปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการ จากปัจจัยดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคของพื้นที่ปลูกปาล์มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้าน ในนโยบายส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันนั้นรวมถึงการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เป็นต้นประมาณ 1 ล้านไร่ ในลักษณะการส่งเสริมการปลูกแบบมีข้อตกลงหรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ความเสี่ยงในการลงทุนคือ การไม่ปฏิบัติตามสัญญาเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยไม่ยอมขายผลผลิตให้ตามสัญญา ความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อนโยบายสนับสนุนการลงทุน รวมไปถึงแนวนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านที่หันมาให้ความสำคัญกับการปลูกพืชพลังงานเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลในประเทศเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปคือ การตั้งโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบหรือโรงงานหีบน้ำมันปาล์ม เนื่องจากข้อจำกัดของปาล์มน้ำมันเมื่อตัดจากต้นแล้วต้องส่งเข้าโรงงานภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อที่จะรักษาคุณภาพของน้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตได้ ดังนั้นจะต้องมีการลงทุนตั้งโรงงานหีบน้ำมันปาล์มตามแหล่งเพาะปลูกปาล์มน้ำมันด้วย ซึ่งปัญหานี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการลงทุนขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่นอกรัศมีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบแห่งเดิม
-ปัญหาเรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมัน การส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันตามแผนพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันนั้นกรมวิชาการเกษตรกำหนดให้เอกชนที่นำเข้าพันธุ์ปาล์มขึ้นทะเบียนเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ซึ่งกรณีที่เกษตรกรซื้อพันธุ์ปาล์มจากเอกชนที่ขึ้นทะเบียนจะได้รับการประกัน ถ้าผลผลิตต่ำกว่าเป้าหลังปลูกไปแล้ว 4 ปี เอกชนต้องจ่ายเงินชดเชย 363 บาทต่อต้น
อย่างไรก็ตามปัญหาคือ แม้ว่ากระทรวงเกษตรฯจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมันสำหรับโครงการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพลังงานทดแทนก็ตาม แต่ในส่วนที่นอกเหนือจากกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะที่ใช้งบผู้ว่าฯซีอีโอนั้นเป็นช่องโหว่ปฏิบัติการนอกกรอบดังกล่าว ซึ่งจะมีปัญหากระทบต่อคุณภาพปาล์มน้ำมันในอนาคต โดยงบผู้ว่าฯซีอีโอขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดจะตั้งเกณฑ์มาตรฐานของต้นกล้าและคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ที่กระทรวงเกษตรฯต้องการให้ใช้มาตรฐานเดียวของกรมวิชาการเกษตรทั้งประเทศ นอกจากนี้ข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับกรมวิชาการเกษตรในเรื่องคุณสมบัติของผู้ประกอบการเพาะกล้าปาล์มน้ำมัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเสนอ 23 รายให้กระทรวงเกษตรฯพิจารณา แต่ปรากฏว่ากระทรวงเกษตรฯตัดเหลือเพียง 11 รายเท่านั้นซึ่งได้แก่ 1.บริษัท สินธุเศรษฐ์ จำกัด 2.บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) 3.หลังสวนพันธุ์ปาล์ม 4.วิชัยพันธุ์ยาง-ปาล์ม 5.ครูจันทร์พันธุ์ปาล์ม 6.บริษัท ฟอเรสท์ เวิลด์กรุ๊ป จำกัด 7.ฐิตวันต์พันธุ์ปาล์ม 8.บริษัท ทักษิณปาล์ม 9.หจก.สุราษฎร์พันธุ์ปาล์ม 10.ก.พันธุ์ปาล์ม และ11.บริษัท วิภาวดีแพลนท์ จำกัด โดยข้อขัดแย้งสำคัญคือ กระทรวงต้องการให้คงข้อที่ว่าด้วยการได้การรับรองฐานะทางการเงินจากธนาคารและต้องมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร5% ของจำนวนต้นปาล์มที่จะผลิต ซึ่งเท่ากับว่าเกษตรกรที่ซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมันนอกเหนือจากบริษัทดังกล่าวจะไม่ได้รับเงินชดเชยในกรณีที่ผลผลิตต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
1.2การตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล การตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลนั้นเป็นตัวเชื่อมสำคัญของแผนพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยในส่วนของการลงทุนตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสในการเข้ามาลงทุนผลิตไบโอดีเซล ดังนี้
1.ลงทุนต่อยอดจากโรงหีบน้ำมันปาล์มดิบและปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิม โดยลงทุนเฉพาะโรงงานไบโอดีเซลขนาดกำลังการผลิต 100,000 ลิตรต่อวัน(เหมาะสำหรับภาคใต้) ซึ่งใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท แยกเป็นการลงทุนสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล 350 ล้านบาท และการปรับปรุงโรงไฟฟ้า 50 ล้านบาท
2.ลงทุนเฉพาะโรงงานไบโอดีเซลขนาดกำลังการผลิต 100,000 ลิตรต่อวัน เหมาะสำหรับภาคกลาง โดยซื้อน้ำมันปาล์มดิบและไขปาล์มจากตลาด ใช้เงินลงทุน 350 ล้านบาทสำหรับการสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล
3.การลงทุนทั้งระบบตั้งแต่การปลูกปาล์มน้ำมันถึงโรงงานผลิตไบโอดีเซล โดยการลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน 60,000 ไร่ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท สร้างโรงงานหีบน้ำมันปาล์มดิบ 200 ล้านบาท โรงไฟฟ้า 220 ล้านบาท และโรงงานผลิตไบโอดีเซลอีก 350 ล้านบาท
ปัญหาในขณะนี้คือ ความชัดเจนของผู้ที่จะลงทุนผลิตไบโอดีเซลเพื่อการพาณิชย์นั้นมีเพียงบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) เท่านั้น ซึ่งผู้ลงทุนที่ส่งไบโอดีเซลให้กับทั้งสองบริษัทนี้นับว่ามีความเสี่ยงลดลง เนื่องจากมีการตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลและปั๊มน้ำมันรองรับการจำหน่ายที่แน่นอน ในขณะที่การลงทุนผลิตไบโอดีเซลชุมชนนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า เนื่องจากการผลิตเป็นไปตามความต้องการของชุมชนแต่ละแห่ง
ความเสี่ยงที่จะต้องพิจารณาของผู้ที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับผู้ที่ลงทุนตั้งโรงงานผลิตเอธานอล เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องผลตอบแทนของการลงทุน อันเป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย ได้แก่
-ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีผลต่อการคำนวณต้นทุน/กำไรของราคาจำหน่ายปลีกไบโอดีเซล ส่งผลต่อเนื่องในการคำนวณจุดคุ้มทุนของการตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล
-ความชัดเจนของนโยบายรัฐบาล เนื่องจากตามแผนรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลโดยการอุดหนุนหรือยกเว้นภาษีเช่นเดียวกับก๊าซโซฮอล์ โดยเฉพาะภาษีเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน ภาษีกองทุนน้ำมัน ภาษีเทศบาล และภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลีกไบโอดีเซลต่ำกว่าน้ำมันดีเซล(ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดว่าจะต้องต่ำกว่าเท่าใด ในขณะที่ราคาจำหน่ายน้ำมันก๊าซโซฮอล์ต้องต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 1.50 บาทต่อลิตร) ซึ่งตามแผนนั้นรัฐบาลจะประกาศลดหย่อนภาษีสรรพสามิต 50 สตางค์ต่อลิตร และยกเว้นภาษีกองทุนน้ำมัน 50 สตางค์ต่อลิตร การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลก็จะมีผลต่อความเสี่ยงในการลงทุนตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล
-ความเสี่ยงอันเกิดจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าถ้าการขยายพื้นที่ปาล์มน้ำมันไม่เป็นตามเป้าหมายหรือภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันไม่เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ราคาน้ำมันผสมไบโอดีเซลขยับเข้าไปใกล้กับราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลมากจนไม่น่าจะลงทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาประกอบด้วยคือ ถ้าโรงงานผลิตไบโอดีเซลนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งราคาต่ำกว่าน้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่สำคัญของโลกคือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมไปถึงมีโอกาสที่จะนำเข้าน้ำมันไบโอดีเซลจากประเทศทั้งสองนี้ ซึ่งก็ส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลเช่นกัน โดยมีความได้เปรียบไทยในเรื่องต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ทำให้ต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลจะต่ำกว่าไทย ไม่ว่ากรณีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบหรือนำเข้าไบโอดีเซลจะส่งผลกระทบทำให้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศล้นตลาด ส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจโรงหีบน้ำมันปาล์มและเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งในปัจจุบันยังไม่มีการประกาศใช้มาตรฐานไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ มีเพียงประกาศมาตรฐานไบโอดีเซลชุมชนเท่านั้น ซี่งอาจจะส่งผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภคต่อคุณภาพของน้ำมันดีเซลผสมไบโอดีเซล ทำให้ความต้องการใช้ไบโอดีเซลอาจจะไม่มากเท่ากับที่มีการคาดการณ์ไว้
2.ความต้องการไบโอดีเซล ตามแผนการกำหนดให้ใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล5%หรือB5ทั่วประเทศในปี 2554 และใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล10%หรือB10ในปี 2555 ความเป็นไปได้นั้นขึ้นอยู่กับการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งหมายถึงการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นไปตามเป้าหมาย และมีการตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลรองรับปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นด้วย รวมไปถึงการยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยเฉพาะผลกระทบต่อเครื่องยนต์ กล่าวคือต้องมีการประกาศมาตรฐานน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลเพื่อการพาณิชย์ของรัฐบาล และการยอมรับของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ โดยมีผลการทดสอบและประกาศยอมรับน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลทั้งB5และ B10 นอกจากนี้ความตื่นตัวในการจะหันมาใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลนั้นนอกจากราคาจำหน่ายแล้ว การประกาศกำหนดยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันดีเซลบริสุทธ์หรือน้ำมันดีเซลที่ไม่ได้ผสมไบโอดีเซล เช่นเดียวกับการประกาศยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน95 ซึ่งทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวหันมาใช้ก๊าซโซฮอล์มากขึ้น ทำให้นโยบายส่งเสริมการผลิตเอธานอลเพื่อนำมาผลิตก๊าซโซฮอล์นั้นประสบความสำเร็จ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน