Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 พฤศจิกายน 2565

บริการ

B2C E-Commerce ปี’ 65-66 ... เติบโตชะลอลงจากปัจจัยกดดันด้านกำลังซื้อ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3361)

คะแนนเฉลี่ย

​    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าตลาด B2C E-Commerce ปี 2565-2566 จะเติบโตชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวสูงด้วยอัตราเลขสองหลักในช่วงโควิด-19 โดยในปี 2566 คาดว่าตลาดอาจขยายตัวราว 4-6%  ซึ่งต่ำสุดเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเฉลี่ย 26% ต่อปี โดยจำนวนผู้ใช้บริการ E-Commerce รายใหม่ น่าจะเริ่มอิ่มตัวหลังจากที่เข้ามาจำนวนมากในช่วงโควิด-19 อีกทั้งค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้มีการใช้จ่ายอย่างจำกัด

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างพวกอาหารสด อาหารแห้งและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว น่าจะยังคงมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในยุค New normal ขณะที่ กลุ่มสินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์อาจจะไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นเร็ว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นรองลงมาในภาวะที่กำลังซื้อผู้บริโภคมีจำกัดและต้องเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจ B2C E-commerce ในทุกหมวดสินค้า น่าจะขยับเพิ่มขึ้นจาก 8.5% ในปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) เป็น 16.0% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีกสินค้ารวมท้ังหมด

    ภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบางหรือมีจำกัด ในขณะที่ ธุรกิจต้องเผชิญการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การบริหารจัดการตลอด Supply chain ตั้งแต่การคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ลูกค้า ช่องทางการขายที่หลากหลาย รวมถึงการใส่ใจในการให้บริการลูกค้าที่ดีสม่ำเสมอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างหรือรักษายอดขาย ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและมีทางเลือกค่อนข้างมาก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม