Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มีนาคม 2566

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ในปี 2566 คาดการซื้อขายที่อยู่อาศัยยังทรงถึงหดตัว จากความไม่แน่นอนทิศทางเศรษฐกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม และหนี้ครัวเรือนสูง เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อแผนการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3387)

คะแนนเฉลี่ย

        ปี 2566 ตลาดที่อยู่อาศัยได้รับปัจจัยบวกมากขึ้น จากกิจกรรมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเป็นปกติ ซึ่งหนุนรายได้ครัวเรือนให้ฟื้นตัว และการเปิดประเทศของจีนที่นอกจากจะช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นข่าวดีต่อตลาดที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นกลับมาลงทุนมากขึ้น รวมถึงยังได้รับผลบวกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายประการ ทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาที่เกิดกับบางธนาคารในสหรัฐฯ สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ นโยบายภาครัฐหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่ยังต้องติดตาม และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก ส่งผลต่อต้นทุนการซื้อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น

        ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจมุมมองเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต่อทิศทางการวางแผนการซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยแบบสอบถามครอบคลุมถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย รูปแบบระดับราคา ปัจจัยที่มีผลต่อแผนการซื้อ ความสามารถในการซื้อ รวมถึงผลของการขึ้นดอกเบี้ย โดยกลุ่มตัวอย่างครอบคลุมกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และผู้มีอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการที่มีรายได้มั่นคง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
        ผลสำรวจโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ มีความต้องการที่จะซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานอายุระหว่าง 36-40 ปี หรือ Gen Y มีความต้องการซื้อสูง ซึ่งวัตถุประสงค์ในการซื้อส่วนใหญ่ต้องการความเป็นอิสระ มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

        โดยกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่ง (66%) ให้ความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยมือหนึ่ง รองลงมา มองหาที่อยู่อาศัยมือสอง (31%) สำหรับระดับราคาเฉลี่ยที่อยู่อาศัยที่กลุ่มตัวอย่างต้องการซื้ออยู่ที่ประมาณ 3.18 ล้านบาท โดยที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมได้รับความสนใจ รองลงมา คือ ทาวน์เฮ้าส์

        อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างพร้อมที่จะปรับแผนการซื้อที่อยู่อาศัยตามปัจจัยเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และความพร้อมทางการเงิน เช่น ภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือน และเงินออม เพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เป็นต้น โดยเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างที่มีความเปราะบางอย่างกลุ่มที่มีภาระหนี้สินต่อเดือนสูง และกลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน

        และเนื่องจากในปีนี้ ปัจจัยที่เอื้อต่อการซื้อลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น และกำลังซื้อยังเปราะบาง ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดจองซื้อที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 2566 จะมีจำนวนราว 0.95 – 1.01 แสนหน่วย หรือหดตัว 2.8% ถึงขยายตัว 3.4% และการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.80 – 1.88 แสนหน่วย หดตัว 7.7% ถึงหดตัว 3.5% จากปี 2565

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม