Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 พฤษภาคม 2566

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น แต่ผู้บริโภคยังไม่พร้อมหากต้องจะจ่ายเพิ่มขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3415)

คะแนนเฉลี่ย

​        ปัจจุบัน ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยหันมาให้ความสำคัญในพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มุ่งตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า Green Home ตามนิยามที่ควรจะเป็น คือ การก่อสร้าง/วัสดุก่อสร้าง ลดการปล่อยคาร์บอน ยังมีต้นทุนสูงมาก โดยปัจจุบันต้นทุนการพัฒนายังสูงกว่าที่อยู่อาศัยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 30% ทำให้คงยังต้องใช้เวลา ในระยะนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงจะยังเน้นไปเพื่อการประหยัดพลังงานเป็นหลัก (อาคาร BEC, บ้านเบอร์ 5, โซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น) ซึ่งต้นทุนต่ำกว่า Green Home แต่ก็ยังสูงกว่าที่อยู่อาศัยปกติ ทำให้ตลาดนี้ก็ยังเป็น Niche market เพราะต้องมีเงื่อนไขที่ลงตัวหลายอย่าง
        ขณะเดียวกัน จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะให้ความสนใจต่อที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่พร้อมหากต้องจ่ายเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 71% ยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากราคาขายที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10%
        และแม้การเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายระยะยาว แต่กลุ่มตัวอย่าง 70% มองว่า ยังไม่จำเป็นต้องติดตั้ง เนื่องจากการลงทุนติดตั้งยังมีราคาสูง ทำให้การประหยัดพลังงานด้วยวิธีที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า เช่น ใช้หลอดประหยัดไฟ/เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การติดฟิล์มกันแสงเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนในบ้าน ได้รับความสนใจมากกว่า
        ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปลี่ยนผ่านตลาดที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังต้องใช้เวลา และหากจะให้เทรนด์ดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทางการคงจะต้องมีนโยบายที่จูงใจ ทั้งทางฝั่งผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศํย และผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
        สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานสร้างเสร็จใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2566 (อาคารชุดมาตรฐาน BEC, บ้านเบอร์ 5, บ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป, ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน, ใช้วัสดุก่อสร้างบางกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) อาจมีสัดส่วน 36% ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยส่วนใหญ่เป็นอาคารชุด เนื่องจากอาคารที่มีขนาดพื้นที่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องออกแบบอาคารตามกฎหมาย BEC ขณะที่อยู่อาศัยแนวราบส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวระดับกลาง-บนขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.3% ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าวยังมีต้นทุนสูง ทำให้ผู้ประกอบการทำการตลาดเป็นบ้านพรีเมียม/บ้านเฉพาะกลุ่ม โดยแม้บางอย่างจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่จะถัวเฉลี่ยด้วยการลดต้นทุนอย่างอื่นลง เพื่อให้ยังได้มาร์จิ้น และสามารถปิดการขายได้ (โดยมุมมองนี้ อยู่บนเงื่อนไขที่ระมัดระวัง เนื่องจากสภาพตลาดที่ยังมีความเปราะบาง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี รายได้ยังไม่กลับมาเหมือนเดิมและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวสูงและยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง