ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 ปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) น่าจะหดตัวเล็กน้อยจากไตรมาสแรก (QoQ) แม้ตลาดจะมีปัจจัยหนุนจากวันหยุดยาวหลายช่วง การปิดภาคการศึกษา ประกอบกับบางองค์กรที่ยังใช้รูปแบบ Hybrid Working ก็ตาม ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรก ปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พักน่าจะยังหดตัวราว 8.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) หลังจากที่ได้ปรับตัวอย่างก้าวกระโดดมาในช่วง 2-3 ปีก่อนจนปัจจุบันกล่าวได้ว่าน่าจะใกล้ภาวะอิ่มตัวระดับหนึ่ง กระนั้น การหดตัว YoY ดังกล่าว เป็นการปรับสมดุลตามบริบทและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพที่แย่สำหรับผู้เล่นในตลาด Food Delivery ไปทั้งหมด
โดยแม้ปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พักอาจจะชะลอลง แต่ร้านอาหารน่าจะได้ยอดขายในช่องทางหน้าร้านมากขึ้น จากการฟื้นตัวกลับมาตามการกลับมาทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้คาดว่าในปี 2566 นี้ มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในภาพรวมน่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะการแข่งขันในตลาดจากจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากและหลากหลาย ประกอบกับต้นทุนธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงหรือปรับตัวขึ้น ทำให้รายได้จากช่องทาง Food Delivery ยังคงสำคัญ
ทางฝั่งไรเดอร์หรือผู้ขับขี่ให้บริการจัดส่งอาหารมีจำนวนลดลงในอัตราที่มากกว่าปริมาณการสั่งอาหาร ส่วนหนึ่งน่าจะกลับไปประกอบอาชีพอื่นตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในภาพรวม ซึ่งทิศทางดังกล่าว ก็น่าจะเป็นผลดีต่อไรเดอร์ที่เหลืออยู่ในระบบ เนื่องจากเป็นการลดแรงกดดันในการแข่งขันกันรับออเดอร์ ทำให้มีโอกาสที่ไรเดอร์หนึ่งคนจะได้รับจำนวนออเดอร์เฉลี่ยสูงขึ้น
ขณะที่ทางด้านผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery น่าจะมีการรับรู้และเตรียมการรับมือกับภาพทิศทางการปรับตัวของตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว เห็นได้จากการปรับและกระจายพอร์ตธุรกิจไปเน้น กลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงการขยายขอบเขตการให้บริการไปยังกลุ่มธุรกิจประเภทอื่นมากขึ้น อาทิ การทำการตลาดและโฆษณา ธุรกิจท่องเที่ยว และการเงิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ช่องทาง Food Delivery จะยังสำคัญต่อทั้งร้านอาหารและผู้บริโภค แต่การรักษาปริมาณการสั่งอาหาร การรักษาคุณภาพการให้บริการที่สะท้อนถึงความคุ้มค่า และการมุ่งเป้าที่จะเพิ่มความสามารถในการทำกำไร จะยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น