Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กรกฎาคม 2564

บริการ

การใช้งาน Health Tech ในไทยมีศักยภาพเติบโต ตามความต้องการบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในอนาคต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3243)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าเม็ดเงินการใช้จ่ายสำหรับ Health Tech ในไทยยังน้อยหรืออยู่ที่ราว 300-400 ล้านบาท ในปี 2564 แต่จากสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เร่งให้ Health Tech เข้ามามีบทบาทในการบริการสุขภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและอำนวยความสะดวก ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของไทย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น น่าจะหนุนให้ตลาด Health Tech ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอีกในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มูลค่าตลาด Health Tech ในไทยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ B2B ซึ่งให้บริการผ่านสถานพยาบาลรายใหญ่เป็นหลัก และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เช่น ระบบนัดหมายเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชัน ระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล หุ่นยนต์บริการดูแลผู้ป่วย โดยการลงทุนของภาคธุกิจใน Health Tech ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่ เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในการลงทุน รวมถึงความคุ้มค่าในการใช้งานในระยะยาวมากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ในขณะที่ธุรกิจสุขภาพ SME อาจไม่ได้ลงทุนในระบบ Health Tech ของตนเอง แต่อาศัยการใช้งานแพลตฟอร์มตัวกลางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มเชื่อมโยงร้านขายยา ร้านสินค้าสุขภาพในเครือข่าย เพื่อสั่งจ่ายยากรณีที่ผู้ป่วยพบแพทย์ทางไกลได้
ขณะที่การใช้งานรูปแบบ B2C กลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 30-39 ปี ที่ใช้งานแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ทวอช เช่น แอปพลิเคชันออกกำลังกาย การตรวจวัดสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันการใช้งานที่ผู้บริโภคเลือกใช้ นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการแพร่ระบาด ประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงลงทะเบียนรับวัคซีน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความคุ้นเคยการใช้งาน Health Tech มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ตลาด Health Tech ยังคงเติบโตได้ในแง่ของผู้ใช้บริการทั้ง B2B ที่ครอบคลุมไปยังกลุ่มธุรกิจ Non-hospital เช่น Nursing Home และ Retirement Community รวมถึง B2C ที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่ครอบคลุมทั้งผู้สูงอายุ และวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ แต่ในแง่ของเทคโนโลยี
มองว่า ยังคงเป็น Health Tech ที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ขณะที่ Health Tech ที่ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนอย่างการใช้ AI วิเคราะห์โรค หุ่นยนต์ผ่าตัด ยังต้องอาศัยเวลาในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และอาศัยเงินลงทุนสูง



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม