Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 พฤศจิกายน 2562

บริการ

E Logistic Marketplace สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการขนส่งไทย ท่ามกลางการแข่งขันในยุคดิจิตัล (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3051)

คะแนนเฉลี่ย

            ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนส่งทางบกไทยต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรง เนื่องจากบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยักษ์ใหญ่ที่แต่เดิมเน้นให้บริการกับผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ กลับเริ่มขยายการลงทุนในประเทศไทยโดยเน้นการให้บริการกับผู้ผลิตที่ต้องการกระจายสินค้าภายในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยังให้เทคโนโลยีดิจิตัลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานโลจิสติกส์ ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่าผู้ประกอบการขนส่งไทย จึงทำให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

           อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดิจิตัลก็ก่อให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ คือ E Logistic Marketplace ที่เป็นสื่อกลางเชื่อมต่อระหว่างเจ้าของสินค้ากับผู้ประกอบการขนส่ง โดยทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงราคาและเงื่อนไขการจัดส่งสินค้ากันผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ในขณะที่ E Logistic Marketplace จะรวบรวมคำสั่งซื้อบริการขนส่งจากทั่วประเทศ และสร้างกลไลตลาดเพื่อให้เกิดการใช้รถบรรทุกร่วมกัน (Truck Sharing) อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

            ปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติได้ คือ การขาดช่องทางการขายบริการขนส่งออนไลน์ทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยสามารถหาลูกค้าได้จำกัดอยู่ในท้องถิ่น จึงเกิดปัญหาในการดำเนินการขนส่งอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การบรรทุกสินค้าไม่เต็มคัน และการตีรถเปล่าขากลับ ซึ่งปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการสร้างเครือข่ายในการแบ่งปันข้อมูลคำสั่งซื้อบริการขนส่งระหว่างกัน

            ในประเทศไทย การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีเครือข่ายผู้ประกอบการรถบรรทุกในประเทศไทยมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม การประเมินราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อกระจายผลประโยชน์ให้กับสมาชิกในเครือข่ายเป็นเรื่องทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้นำเครือข่ายเป็นผู้ประกอบการรถบรรทุกเองด้วย          

            ปัญหาเหล่านี้สามารถบริหารจัดการได้ โดยการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรถบรรทุกผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ในประเทศสหรัฐ ฯ E Logistic Marketplace เช่น Uber Freight ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำเครือข่ายรวบรวมคำสั่งซื้อบริการขนส่งจากทั่วประเทศ และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นกลไกหลักในการสร้างระบบราคาแบบพลวัตร (Dynamic Pricing Model) ซึ่งสามารถหาราคาที่เหมาะสมในการขนส่งแบบเรียลไทม์ (Real Time) ดังนั้น E Logistic Marketplace จึงสามารถลดต้นทุนในการขนส่ง และสร้างประโยชน์ให้กับพันธมิตรทุกฝ่ายที่อยู่ในเครือข่าย ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่ได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

            ปัจจุบัน E Logistic Marketplace เป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เห็นได้จากรายได้ของ Uber Freight เติบโตขึ้น 78% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า E Logistic Marketplace เป็นโมเดลที่มีศักยภาพในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มมีสตาร์อัพ 1-2 รายเข้ามาทำธุรกิจนี้แล้ว คาดการณ์ว่า E Logistic Marketplace ในไทยจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามการเติบโตของอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตกลุ่มหนึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมและยอมรับเทคโนโลยีดิจิตัลในการขนส่งสินค้ามากขึ้น

           ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งไทยจึงควรเตรียมความพร้อม โดยการสร้างทักษะและเพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลในการทำธุรกิจ เช่น การติดตั้ง GPS ในรถบรรทุก เพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์จาก E Logistic Marketplace ได้ เพราะในอนาคต ผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ได้ จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จนอาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม