สถานการณ์โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างต้องปรับตัวในการทำงาน และเกิดต้นทุนฉับพลันในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเชิงป้องกันเพื่อลดการแพร่ของโรคระบาด ทำให้ต้นทุนที่เกิดจากการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเดินทางรับส่งแรงงาน ค่าที่พักคนงาน และค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันโรค ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า มาตรการป้องกันโรคระบาดจะส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างของผู้รับเหมาน่าจะเพิ่มขึ้น 0.2-0.5% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคหรือตั้งแต่มีนาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังมีต้นทุนจากการเพิ่มรอบการทำงานของคนงานเพื่อลดความหนาแน่นในไซต์ก่อสร้างและค่าแรงที่สูงขึ้นจากการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการอาจมีต้นทุนก่อสร้างที่สูงขึ้นอีก 0.83% โดยรวมในปี 2563 ต้นทุนรวมอาจจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1.03-1.33% ต่อโครงการ
ในปี 2564 การยับยั้งการแพร่ระบาดยังทำให้เกิดความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเกิดสถานการณ์ขาดแคลนแร่เหล็ก (Supply shortage) ในบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก จากการที่หลายโรงถลุงแร่เหล็กถูกปิดตัวลงจากการพบผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กอปรกับการที่จีนควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วและรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ความต้องการเหล็กทั่วโลกสูงขึ้นและนำไปสู่ราคาเหล็กที่สูงขึ้นตาม โดยสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะคลี่คลายในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เนื่องจากทางการจีนได้ออกนโยบายเพื่อลดภาวะการขาดแคลนแร่เหล็กโดยการอนุญาตให้นำเข้าเศษเหล็ก (Scrap) เพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการหล่อเหล็กควบคู่ไปกับการใช้แร่เหล็ก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ต้นทุนการก่อสร้างน่าจะเพิ่มจากปี 2563 อีก 1.41-1.94% ซึ่งเป็นผลหลักจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยหากสถานการณ์ขาดแคลนแร่เหล็กดีขึ้น หรือหากมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย ต้นทุนที่เกิดจากความผันผวนของราคาเหล็กและการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างอาจจะหายไป
ดังนั้น ผู้รับเหมาจึงควรประเมินต้นทุนและขั้นตอนการก่อสร้างเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นในราคาประมูลงานในภายภาคหน้า นอกจากนี้ ผู้รับเหมายังควรเตรียมกระแสเงินสดและแนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่ สำหรับการก่อสร้างโครงการในอนาคต โดยในระยะยาวอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยควรมีมาตรฐานการรับมือโรคระบาด และพิจารณาการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้นและลดความหนาแน่นของคนในสถานที่ก่อสร้าง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น