Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤษภาคม 2561

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนเริ่มแผนลดภาษีคลายแรงกดดันกับสหรัฐฯ ... แต่ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2911)

คะแนนเฉลี่ย

​​​         ในที่สุดทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็สามารถประนีประนอมเพื่อลดแรงตึงเครียดทางการค้า  โดยล่าสุดจีนประกาศลดภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งจากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 15 รวมทั้งลดภาษีชิ้นส่วนรถยนต์จากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 6 มีผลลดภาษีทั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561เป็นต้นไป ซึ่งในระยะต่อไปทางการจีนน่าจะทยอยประกาศมาตรการต่างๆ ออกมา โดยเริ่มจากการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ดังที่ทำอยู่ และต่อขยายไปสู่การดำเนินการด้านอื่น ดังนี้

  • ​​​​การลดภาษีสินค้านำเข้าของจีนเป็นวิธีที่สะดวกและช่วยเพิ่มมูลค่าการนำเข้าได้รวดเร็ว โดยอาศัยกลไกตลาดเป็นแรงกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราภาษีค่อนข้างสูงน่าจะถูกนำมาพิจารณาปรับลดลงได้อีก ได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป ยานยนต์  เครื่องใช้ไฟฟ้า เลนส์ เครื่องใช้ทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี กว่ากลไกตลาดในจีนจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนที่อาจตอบสนองต่อสินค้าสหรัฐฯ ได้ค่อนข้างจำกัด เพราะสินค้าสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงเหมาะกับชาวจีนในกลุ่มชนชั้นกลาง-บนขึ้นไป

             ทั้งนี้ สินค้าที่น่าจะสร้างมูลค่าการนำเข้าได้มากนั้นอยู่ในกลุ่มวัตถุดิบขั้นกลางซึ่งการเปิดตลาดด้วยการลดภาษีอาจต้องแลกมาด้วยอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แผนงาน Made in China 2025 ที่ทางการจีนคงต้องพิจารณาเป็นรายการไป ซึ่งการลดภาษีในกลุ่มนี้อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก และต้องติดตามรายละเอียดต่อไป  
  • การเพิ่มปริมาณการนำเข้าโดยโยกคำสั่งซื้อจากประเทศอื่นเพื่อหันมาสั่งซื้อสินค้าสหรัฐฯ แทน โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างเครื่องบินและชิ้นส่วน ถั่วเหลืองและพลังงาน ซึ่งมีภาษีที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว จึงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากรัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อเพิ่มสต็อกสินค้าหรือเร่งคำสั่งซื้อในปริมาณมาก

               ​ ดังนั้น โดยรวมแล้วน่าจะเห็นภาพการนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 25,000-35,000 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ยังค่อนข้างห่างไกลจากระดับที่สหรัฐฯ ได้เรียกร้องไว้ที่ 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ ภายในปี 2563 จึงอาจกลายเป็นชนวนให้สหรัฐฯ ใช้เป็นข้ออ้างในการกดดันต่อจีนรอบต่อๆ ไปอีก ซึ่งสหรัฐฯ คงต้องยืนอยู่บนหลักเหตุและผลก่อนจะเดินหน้ากดดันจีน เพราะหากยึดแต่แนวทางที่มีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง คงยากที่จีนจะยอมก้าวตามสหรัฐฯ ในครั้งต่อไป อย่างไรก็ดี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า สถานการณ์ประนีประนอมที่เกิดขึ้นในขณะนี้น่าจะประคองความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันไปได้ระยะหนึ่ง และยังต้องติดตามข้อเรียกร้องในเชิงลึกอื่นๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ระยะเวลาในเชิงปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้จีนเปิดตลาดภาคบริการในเชิงลึก การเร่งรัดให้จีนปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการกดดันให้จีนยกเลิกการอุดหนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามนโยบาย Made in China 2025 เป็นต้น โดยในระหว่างนี้ถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประกาศใช้นโยบายเหนือความคาดหมายและไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ ก็เป็นไปได้ที่ข้อพิพาททางการค้าจะกลับมาปะทุอีกครั้ง


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ