Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 เมษายน 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3858)

คะแนนเฉลี่ย

​​​การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทั่วโลกยังคงส่อเค้ารุนแรงและมีแนวโน้มที่จะยังไม่สามารถควบคุมได้ในระยะอันใกล้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบสูงขึ้น และกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ดังนั้น รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกจึงต่างออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงเงินมหาศาล ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มาตรการการคลังจะเน้นไปที่การช่วยลดภาระรายจ่ายของครัวเรือนและธุรกิจ ตลอดจนการประคองให้ครัวเรือนและธุรกิจยังคงมีรายได้เข้ามา ในขณะที่มาตรการทางการเงินจะเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่อง เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการผ่อนปรนภาระหนี้สิน

อนึ่ง ตัวเลขของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการให้ข่าวของทางการเป็นเพียงวงเงินที่ทางการระบุว่าจะนำออกมาใช้ ซึ่งบางมาตรการยังไม่มีการเปิดใช้หรืออัดฉีดจริง และการใช้เงินจริงอาจต่ำกว่าวงเงินที่ระบุไว้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพียงการรับรองการปล่อยกู้ (Loan guarantees) ซึ่งอาจไม่ได้นำออกมาใช้จริงทั้งหมด ขณะที่ มาตรการทางการเงินมักมีวงเงินค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะฐานสินทรัพย์ทางการในระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เช่นนั้น ทำให้ไม่สามารถตีความผลลัพธ์ของมาตรการกระตุ้นจากเพียงตัวเลขได้ นอกจากนี้ จำนวนวงเงินอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเสมอไป

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่น่าจะยังไม่สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันใกล้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบที่สูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้ ดังนั้น แม้ว่าหลายประเทศจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินที่สูงกว่า 10% ของ GDP แต่ยังคงต้องติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่อไป โดยหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดว่าทางการคงพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นในระยะข้างหน้า

โดยสรุป การดำเนินมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลนั้น ท้ายที่สุดแล้วอาจจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจในหลายประเทศพ้นภาวะถดถอย แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการใดๆ มารองรับ และที่สำคัญมากไปกว่านั้น มาตรการต่างๆ ที่นำออกมาใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ก็เพื่อช่วยให้กลไกทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ