ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย จะอยู่ที่ประมาณ 5.1-5.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2562 ลดลงจากกำไรสุทธิที่ 5.259 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/2562 โดยกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/2562 อาจมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด เนื่องจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ทั้งการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ยังคงรอจังหวะการฟื้นตัวที่ชัดเจนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเลื่อนเวลาออกไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี
แม้ในไตรมาส 2/2562 จะไม่มีแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อเหมือนในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อธ.พ. ไทยอาจจะยังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 4.7-4.9% ในไตรมาส 2/2562 จากที่เติบโต 5.4% ในไตรมาสแรกของปี ตามสัญญาณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็เริ่มชะลอลงหลังมาตรการ LTV ใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 2562 เป็นต้นมา
รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ โดยหากไม่นับปัจจัยพิเศษจากการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนแล้ว คาดว่า รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาจจะยังเผชิญแรงกดดัน เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจากส่วนอื่นๆ รวมถึงรายได้สุทธิจากธุรกิจประกัน น่าจะเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรับในไตรมาส 2/2562 ยังมีโอกาสหดตัวลงต่อเนื่อง แม้ว่าแรงฉุดจากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินจะทยอยลดลงในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
ทิศทางการฟื้นตัวที่ไม่ต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่ม ซึ่งเพิ่มความเปราะบางให้กับประเด็นด้านคุณภาพหนี้ของธ.พ. และทำให้ธ.พ. หลายแห่งยังคงส่งสัญญาณบริหารจัดการ ติดตามและดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมธ.พ.ไทย และสาขาธ.พ. ต่างประเทศ) หรือ NPL Ratio มีโอกาสขยับขึ้นมาที่กรอบ 2.94-2.96% ในไตรมาส 2/2562 สูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 2.94% ในไตรมาส 1/2562 อย่างไรก็ดี เนื่องจากธ.พ. หลายแห่งมีการตั้งสำรองฯ ส่วนเกินในระดับสูง ทำให้คาดว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจทรงตัวที่กรอบ 1.10-1.14% ในไตรมาส 2Q/2562 จาก 1.09% ในไตรมาส 1Q/2562
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น