Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 สิงหาคม 2562

พลังงาน

จับตา พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กับอนาคตของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3019)

คะแนนเฉลี่ย

​​​             พ.ร.บ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562 มีประเด็นที่น่าติดตาม คือ การกำหนดให้ยกเลิกอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี โดยในขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือมาตรการที่ชัดเจนออกมาสอดรับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เบื้องต้นอาจกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ลดลง ท้ายที่สุดอาจส่งผลให้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพบางประเภทถูกยกเลิกไป ทั้งนี้ อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ลดลงยังไม่รวมถึงปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือมาตรการทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต

           จากประเด็นดังกล่าว ภายใต้การขาดความสามารถในการแข่งขันของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบทรงตัวต่ำลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากผลผลิตเกือบครึ่งหนึ่งถูกดูดซับโดยอุตสาหกรรมไบโอดีเซล ในขณะที่สถานการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคหรือน้ำมันปาล์มที่เป็นอีกตลาดสำคัญก็ชะลอตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การบริหารความเสี่ยงไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆก็ยังไม่ใช่ทางระบายที่ดี อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตผ่านการทำเกษตรแบบพันธสัญญา (Contact Farming) ที่ทำให้เกิดการบริหารจัดการคัดเลือกพันธุ์และการพัฒนาระบบเพาะปลูกผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) นั้นถือว่าได้เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตพลังงานบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

​          ​โดยหลักการแล้วการลดการอุดหนุนเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านราคาและทำให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้อย่างสมบรูณ์ อย่างไรก็ดี ความสามารถในการปรับตัวของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในเงื่อนไขเวลาที่จำกัดเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ภาครัฐควรกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่สอดรับกับสถานการณ์ อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์การลดอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ชัดเจน รวมไปถึงนโยบายสนับสนุนอื่นที่สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าว เช่น แผน AEDP และแผน EEP ที่จะต้องปรับปรุง ประกอบกับการดำเนินให้เป็นไปตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมจะช่วยทำให้เกษตรกรยังสามารถสร้างรายได้ต่อไป เพื่อให้ทุกฝ่ายปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างราบรื่นหรือมีผลกระทบน้อยที่สุด