Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 กุมภาพันธ์ 2563

พลังงาน

ประเด็นท้าทายจากพฤติกรรมผู้ใช้รถ สร้างแรงกระตุ้นใหม่ เพิ่มอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3088)

คะแนนเฉลี่ย

​            ​ที่ผ่านมา ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลและเบนซินนั้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแรงหนุนของกลไกราคาและการเพิ่มขึ้นของรถที่รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่างไรก็ดี แม้ว่าน้ำมันที่มีสัดส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจะมีราคาที่ดึงดูดจากการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ในประเภทที่มีสัดส่วนการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในปริมาณที่ต่ำนั้นกลับเป็นที่นิยมมากกว่า แม้จะอยู่ในระดับราคาสูงกว่าก็ตาม

            ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป น้ำมันดีเซล B10 ได้ถูกกำหนดให้เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐาน และในระยะข้างหน้า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 จะถูกวางแผนให้เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานเช่นกันในช่วงกลางปี 63 ซึ่งเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้มีปริมาณการใช้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นประเด็นความท้าทายในการสร้างอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่างพฤติกรรมของผู้ใช้รถบางกลุ่มที่ยังขาดความมั่นใจในประสิทธิภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญต่อไป

            ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เมื่อประเด็นข้างต้นได้รับการพิจารณาแก้ไขสำเร็จ ย่อมส่งผลเกิดความยั่งยืนของใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเมื่อรถเติมน้ำมันไบโอดีเซล B10 เพิ่มทุกๆ ร้อยละ 1 จะทำให้ความต้องการน้ำมันดีเซล B10 เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 340 ล้านลิตร และการที่รถเติมเบนซิน E20 ทุกๆ ร้อยละ 1 จะทำให้ความต้องการน้ำมันเบนซิน E20 เพิ่มขึ้นราว 60 ล้านลิตร ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการของภาครัฐที่สนับสนุนด้านราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว เอกชนหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างค่ายรถยนต์ที่อาจเข้ามาสร้างแรงจูงใจที่ไม่ใช่ราคา เช่น การรับประกันเครื่องยนต์เมื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ และการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีประสิทธิภาพให้เทียบเท่ากับน้ำมันเชื้อเพลิงธรรมดา เป็นต้น รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของเชื้อเพลิงชีวภาพที่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศอย่าง PM2.5 เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม