ไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในตัวเลือกทดแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในภาคอุตสาหกรรม บ้านเรือน ยานพาหนะ และการผลิตไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศมีแผนการใช้งานไฮโดรเจน และมาตรการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าการเผาไหม้ไฮโดรเจนจะไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่กระบวนการผลิตไฮโดรเจนอาจก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้น (เกรย์ไฮโดรเจน) โดยวิธีที่ได้รับความนิยมจะใช้เทคโนโลยีแยกน้ำโดยกระแสไฟฟ้าโดยจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้ได้ไฮโดรเจนที่สะอาด หรือกรีนไฮโดรเจน หรือนำเกรย์ไฮโดรเจนควบคู่กับเทคโนโลยี CCUS (บลูไฮโดรเจน)
สำหรับประเทศไทยธุรกิจที่เริ่มลงทุนจะอยู่ในกลุ่มบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่เพื่อผลิตกรีนไฮโดรเจน และบลูไฮโดรเจนเพื่อนำไฮโดรเจนที่ได้ไปใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในบริษัท ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบ Synthetic Fuel เพื่อใช้งานต่อได้โดยไม่ต้องผ่านการขนส่งหรือแปรรูปไฮโดรเจนไปใช้งานที่อื่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การนำไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานสะอาดทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคธุรกิจเป็นการทั่วไปนอกเหนือจากบริษัทในกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้งานมีความแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งในระยะแรกคงเน้นไปที่เกรย์และบลูไฮโดรเจนเป็นหลัก โดยยังต้องดำเนินการในอีกหลายประเด็นเพื่อจัดการความท้าทายหลายด้าน รวมถึงอาจจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อสร้างบรรยากาศการผลิตและการใช้งานกรีนไฮโดรเจนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ ในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ทิศทางการลงทุนของภาคเอกชน ควรเน้นการเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานชีวภาพ ชีวมวล ลม น้ำ แสงอาทิตย์ เป็นต้น ให้มีปริมาณเพียงพอกับขนาดความคุ้มทุนของการผลิตกรีนไฮโดรเจน และเพียงพอต่อความต้องการกรีนไฮโดรเจนในอนาคต
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น