Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 สิงหาคม 2562

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล...กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยค้างขาย ณ สิ้นปี 2562 ยังคงอยู่ในระดับสูง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3014)

คะแนนเฉลี่ย

​          ​ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังมีความท้าทายรอบด้านรออยู่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการน่าจะมีความระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่รวมถึงปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยหันมาเปิดโครงการในระดับราคาที่ใกล้กับความสามารถซื้อของกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (Mass Customer) โดยทำเลที่ผู้ประกอบการน่าจะยังให้ความสำคัญ ได้แก่ บริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าที่กำลังสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพรอบนอก อย่างไรก็ดีจากการที่ Segment ระดับกลางนี้มีความหนาแน่นของการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ รวมถึงมีสัดส่วนจำนวนค้างขายที่สูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเองก็อาจพบกับความท้าทายในเวลาเดียวกัน

            ขณะที่ในด้านการซื้อของผู้บริโภคนั้นสะท้อนภาพที่ชะลอตัวลงทั้งกลุ่มผู้ซื้อในประเทศและชาวต่างชาติ ทั้งนี้การชะลอตัวของผู้บริโภคในประเทศน่าจะเป็นผลมาจากกลุ่มผู้ซื้อเพื่อการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว  เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายๆด้านในเวลาเดียวกัน  อาทิ นโยบายกำกับดูแลสินเชื่อ จำนวนห้องเช่าที่มีอยู่มากในปัจจุบันที่ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในกลุ่มผู้ให้เช่าเอง รวมถึงกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะเดียวกันผู้ซื้อชาวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ก็น่าจะมีการชะลอการลงทุนลง เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนจากค่าเช่า (Gross Rental Yield) อาคารชุดบางแห่งอาจมีการหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อ

        โดยสรุป ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังอาจพบกับความท้าทายที่ต่อเนื่องมาจากในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งจากผู้ประกอบการที่มีหน่วยเหลือขายสูง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและแรงซื้อของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จำนวนที่อยู่อาศัยค้างขาย ณ สิ้นปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 196,000 – 201,000 หน่วย หดตัวร้อยละ 1.9 ถึงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากปี 2561