การพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและการที่สมาร์ทโฟนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ได้ผลักดันให้เกิดการยกระดับของธุรกิจภาคบริการเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที ทุกที่ทุกเวลา ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยบริการดังกล่าวถูกเรียกว่า ธุรกิจการให้บริการแบบ On-Demand ซึ่งมีตัวอย่างบริการที่ได้ความนิยมในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่, บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery), บริการเรียกยานพาหนะผ่านแอปพลิเคชั่น (Ride-Hailing Platform), บริการให้ความบันเทิงแบบ On-Demand เป็นต้น
ทั้งนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจบริการบางกลุ่มมีการหดตัวลงอย่างรุนแรง อาทิ บริการจองที่พักและตั๋วเครื่องบิน (Online Travel Agency) ซึ่งได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปส่งผลให้ธุรกิจการให้บริการดังกล่าวมีการหดตัวลงถึงร้อยละ 40-45 รวมถึงบริการเรียกยานพาหนะผ่านแอปพลิเคชั่น (Ride-Hailing Platform) ที่หดตัวลงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ ขณะเดียวกันธุรกิจการให้บริการแบบ On-Demand บางประเภทกลับมีการขยายตัวตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาทิ บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ที่กลายมาเป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้ของธุรกิจร้านอาหาร หรือธุรกิจการให้บริการด้านความบังเทิงแบบ On-Demand ที่ในปี 2563 น่าจะได้รับประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคหันมาทำงานจากที่พัก (Work from home) มากขึ้น โดยผลลัพท์ทั้งเชิงบวกและลบดังกล่าวส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการให้บริการแบบ On-Demand ใน 4 ธุรกิจข้างต้นอาจมีมูลค่าสุทธิที่ 1.42 แสนล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 32.5 จากสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ดี หลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าธุรกิจเหล่านี้โดยภาพรวมน่าที่จะยังได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค
นอกจากนี้ ธุรกิจการให้บริการแบบ On-Demand ก็น่าจะมีการขยายขอบเขตครอบคลุมไปยังธุรกิจอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นด้วย อาทิ บริการตกแต่งดูแลบ้าน บริการเสริมความงามหรือนวดในที่พัก บริการจัดหาพี่เลี้ยงเด็กและผู้สูงวัย รวมไปถึงบริการเช่ายานพาหนะ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจการให้บริการขนาดเล็ก-กลาง ที่มีช่องทางการทำธุรกิจที่จำกัด อาจพิจารณาปรับรูปแบบของตนให้สามารถสนับสนุนการให้บริการในรูปแบบ On-Demand ที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อธุรกิจของตน
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่จะใช้เป็นช่องทางการสร้างรายได้คงต้องพิจารณาบริบทของแต่ละธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน ทั้งในมิติด้านราคา/ต้นทุน การแข่งขัน และเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีผลต่อโอกาสและคุณภาพในการให้บริการได้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น