ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรอประเมินภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในการประชุมนโยบายการเงินรอบสุดท้ายของปี 2562 โดยรอบนี้ เฟดจะเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจและคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยรอบใหม่ ซึ่งในภาพรวม เฟดน่าจะยังคงมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับในครั้งก่อนที่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2563 จะขยายตัวได้ประมาณ 1.8-2.1% จะชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2562 ขณะที่การส่งสัญญาณต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหนุนมุมมองการคงอัตราดอกเบี้ยในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยในช่วงต้นปี 2563 คงเป็นตัวสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าเป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์หรือไม่ โดยปัจจัยดังกล่าวจะเป็นเงื่อนไขต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะต่อไป
ท่ามกลางความเสี่ยงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ส่งผลให้ตลาดยังมีมุมมองว่า เฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในปี 2563
- ทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปี 2563 ยังเผชิญความเสี่ยงสูง เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนทางด้านการค้าที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคธุรกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่เริ่มเผชิญกับสัญญาณการชะลอลงของคำสั่งซื้อ หากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคลุมเครือและลากยาวออกไป จะเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่อภาพการลงทุนของภาคธุรกิจ และอาจส่งผ่านผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังตลาดแรงงาน ในขณะเดียวกัน ผลการปรับลดภาษีรายได้ที่สิ้นสุดลงผนวกกับแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทำให้ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้นก็อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว
- ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ
- ความเสี่ยงจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินสหรัฐฯ ในปี 2563 โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนได้ และนำไปสู่การยกระดับการจัดเก็บภาษีการค้ารอบใหม่ในวันที่ 15 ธ.ค. 2562 ซึ่งครอบคลุมสินค้าอุปโภคในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคขั้นปลายที่จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อภาคการบริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่เฟดจะพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อลดทอนผลกระทบจากความเสี่ยงของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หากข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนบานปลายและลากยาวออกไป
ผลต่อเศรษฐกิจไทย มุมมองของตลาดต่อโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2563 และพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังเผชิญความเสี่ยงในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในระยะข้างหน้า และสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า ซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น