Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 สิงหาคม 2562

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน …ทางการไทยควรเตรียมรับมือ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3016)

คะแนนเฉลี่ย

          ทางการจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมาอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนเพิ่มเติมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าทางการจีนพร้อมที่จะตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยการลดค่าเงิน ซึ่งทางการจีนอาจใช้มาตรการลดค่าเงินเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และเพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการจีนน่าจะไม่ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่ามากจนเกินไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีนและบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

            ทั้งนี้ การปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าส่งผลให้ในที่สุดจีนก็เข้าข่ายประเทศที่มีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ตามข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ นำมาซึ่งความชอบธรรมให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและการค้าเพื่อปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งหลังจากนี้ทั้งสองฝ่ายคงหยิบมาตรการต่างๆ ออกมาใช้ตอบโต้กันอย่างร้อนแรงซึ่งจะบั่นทอนเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ และจีนรวมถึงดึงให้เศรษฐกิจโลกไถลอ่อนแรงลงอย่างมากในปี 2563 และอาจก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคตอันใกล้

           สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจทำได้เพียงออกมาตรการประคับประคองไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากจนเกินไป ทั้งนี้ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลกนั้นลดลง และส่งผลให้การส่งออกของไทยที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงอยู่แล้วนั้น มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวไปมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นชะงักงัน

            ดังนั้น ทางการไทยคงต้องเร่งพิจารณามาตรการเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายอาจทำได้จำกัดในระยะข้างหน้า เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอีกด้วย ท่ามกลางการก่อหนี้ของภาคเอกชนที่สูงขึ้น ขณะที่นโยบายการคลังยังพอมีช่องทางเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่ส่งตรงต่อภาคธุรกิจของไทยซึ่งมีช่องว่างให้พิจารณานำมาใช้มากขึ้นทั้งการปรับลดภาษีภาคธุรกิจ และการเร่งรัดคืนภาษีส่งออก เป็นต้น

​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม