ในปี 2561 เป็นปีที่เศรษฐกิจตุรกีอาจจะเผชิญกับแรงกดดันที่มาจากรอบด้าน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เข้ามารุมเร้า ทั้ง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่เร่งการไหลออกของเงินทุนตลอดจน กดดันให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและการอ่อนค่าลงของเงิน Lira ที่ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อทะยานขึ้น ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าปัจจัยที่กระตุ้นให้ค่าเงิน Lira เผชิญกับวิกฤติรอบใหม่ นั้นมาจากปัจจัยการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯที่ตึงเครียดขึ้นอย่างมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจจะดำเนินมาตรการกีดดันการค้าที่เข้มงวดขึ้นกับตุรกี ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจตุรกี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้สถานการณ์ของค่าเงิน Lira ของตุรกีจะคลายตัวลง แต่ประเด็นด้านเสถียรภาพยังคงมีอยู่ทำให้ทางการตุรกีต้องเร่งแก้ปัญหาพื้นฐาน นั่นคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก โดยเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางตุรกีอาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ซึ่งแม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวคงจะทำให้เศรษฐกิจตุรกีชะลอตัวลง แต่ก็น่าจะได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนมากกว่ามาตรการแทรกแซงตลาด เช่น การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ หากตุรกีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลต่อตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะภาคธนาคารของยุโรป เนื่องจากภาคธนาคารในยุโรปกับตุรกีมีความเชื่อมโยงกันในระดับค่อนข้างสูง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น